วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

ห้องสมุดไทยไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน


ที่โรงแรมเอเชีย วันที่ (4 ก.ค.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เสนอผลการวิจัย เรื่อง การประเมินผลการดำเนินการงานห้องสมุดประชาชนในประเทศไทย ซึ่งการวิจัยนี้ใช้วิธีส่งแบบสอบถามเก็บข้อมูลจากบรรณารักษ์หรือผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด ประชาชนทุกประเภท ได้แก่ ห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ห้องสมุดประชาชนจังหวัด ห้องสมุดประขาชนอำเภอ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน และห้องสมุดประชาชน ตำบล ห้องสมุดประชาชนเทศบาล สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และห้องสมุดประชาชน กทม. รวมทั้งสิ้น 244 แห่ง ขณะเดียวกันยังได้เก็บข้อมูลจากประชาชน ที่มาใช้บริการห้องสมุดฯ จำนวน 7,260 ราย รศ.ดร.ชุติมา สัจจานันท์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มสธ.หัวหน้าคณะผู้ทำวิจัย กล่าวว่า ผลการวิจัยพบว่า ห้องสมุดประชาชนส่วนใหญ่มีผลการดำเนินการงานไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรฐานของคณะวิจัย ต้นตอเกิดจากขาดการสนับสนุนงบประมาณ ห้องสมุดเกือบครึ่ง หรือร้อยละ 43.9 ได้รับงบในรอบปีต่ำกว่า 50,000 บาท หากนำมาเฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวผู้ใช้บริการแล้ว ห้องสมุด ร้อยละ 34.8 ได้ค่าหัวไม่เกิน 10 บาท ซึ่งถือว่าต่ำมาก อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ห้องสมุดตกเกณฑ์มาตรฐาน คือ เรื่องการประชาสัมพันธ์ พบว่า ห้องสมุดส่วนใหญ่ยังอ่อนประชาสัมพันธ์ ไม่สามารถสื่อสารให้ผู้ใช้บริการรับรู้ได้ว่ามีอะไรให้บริการบ้างในห้องสมุดของตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับแบบสอบถามที่เก็บจากผู้ใช้บริการที่พบว่า ประชาชนผู้ใช้บริการยังไม่ค่อยรับรู้ด้านการบริการ นอกจากนี้ ห้องสมุดยังมีปัญหาด้านบุคลากร ส่วนใหญ่มีบรรณารักษ์ประจำ 1-2 คน และเจ้าหน้าที่ดูแลความสะอาดและให้บริการ 1 คน อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยพบว่าห้องสมุดร้อยละ 48.4 ไม่มีเจ้าหน้าที่ห้องสมุดช่วยงานบรรณารักษ์ ร้อยละ 96.4 ไม่มีพนักงานธุรการ และร้อยละ 56.1 ไม่มีภารโรง หากห้องสมุดมีผู้มาใช้บริการจำนวนมากหรือเปิดทุกวันแล้ว บุคลากรที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการ นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า บรรณารักษ์ และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดปฏิบัติงานด้านการบริหารและงานเทคนิคในระดับมาก ขณะที่ปฏิบัติงานบริการอยู่ในระดับน้อย ส่วนที่ห้องสมุดทำได้ดี คือ เรื่องการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการและการบริการ ทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดมีความหลากหลายตรงกับความต้องการของห้องสมุด เมื่อถามถึงความพึ่งพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่า ประชาชนพอใจการบริการห้องสมุดประชาชนในระดับกลาง โดยห้องสมุดประชาชนจังหวัดมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจสูงสุด รองลงมาเป็นห้องสมุดของ กทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ห้องสมุดประชาชนอำเภอ ห้องสมุดตำบล และห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่จะพอใจเรื่องของการจัดชั้นหนังสือ การบริหารที่รวดเร็ว เหตุผลที่จะทำให้ประชาชนมาใช้ห้องสมุด ก็คือ ที่ตั้งห้องสมุดต้องอยู่ใกล้ เดินทางสะดวก ด้วยเหตุนี้การเลือกทำเลสร้างห้องสมุดจึงมีความสำคัญ ถ้าไปตั้งอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสม ประชาชนก็ไม่ไปใช้บริการ นายปรเมศวร์ สุขมาก ผอ.ศูนย์ส่งเสริมการศึกษา ตามอัธยาศัย กศน.บอกว่าห้องสมุดประชาชนของ กศน.ได้รับงบน้อย เพิ่งได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเมื่อปี 2548 ส่งผลให้คุณภาพห้องสมุด ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ห้องสมุดของ กศน. 8-9 แห่ง ได้รับรางวัลห้องสมุดต้นแบบจาก สกศ. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากร และบุคคลากรที่มีอยู่ก็มีขาดศักยภาพในการปฏิบัติงาน หากสามารถพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ห้องสมุดแล้ว ห้องสมุดแม่สะเรียงที่มีเจ้าหน้าที่น้อยแต่สามารถได้รับรางวัลจาก TK Park ได้
“ห้องสมุดบางแห่งมีประชาชนมาใช้บริการวันละ 10 คน ดังนั้น ควรมีการประชาสัมพันธ์ คือหาจุดขายให้ได้ว่าห้องสมุดมีอะไรดี นอกจากนี้ ควรจัดกิจกรรมรักการอ่านด้วย” นายปรเมศวร์ ระบุอีกว่า นโยบายรัฐบาลต้องชัดเจนว่า ห้องสมุดจะอยู่อย่างไร อยู่กับใคร กศน. หรือโอนให้ท้องถิ่น ขณะที่ นายประวิทย์ วีระสัตยานันท์ ประธานคณะทำงานห้องสมุดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต แสดงความเห็นว่า ควรจะมีเมกกะโปรเจคหนุนการพัฒนา ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ หากรัฐบาลยังทุ่มงบไปกับโครงการเชิงวัตถุ เช่น รถไฟฟ้า โดยไม่สนใจการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้แล้ว ประเทศชาติอาจล่มจม อย่างไรก็ตาม อบจ.ภูเก็ตได้รับโอนห้องสมุดประชาชนของ กศน.มาแล้ว และมีงบประมาณพร้อมสนับสนุนอย่างมาก เฉพาะงบซื้อหนังสือปีละ 1 ล้านบาท แต่ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเนื่องจากไม่มีประสบการณ์บริหารห้องสมุดมาก่อน
ที่มา : http://dek-d.com/content/print.php?id=2996

บรรณารักษ์ “ดี” บริการ “ดี” ...สุดยอด!!!

การสร้างสังคมไทยสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้นั้น นอกจากจำเป็นต้องมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในระบบให้มีความเข้มแข็งแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัยให้มีคุณภาพ ตลอดจนมีการส่งเสริมด้านการอ่านให้แก่คนไทย เพื่อผลักดัน “ให้คนไทยรู้จักการเรียนรู้ตลอดชีวิต” โดยเฉพาะการส่งเสริมการอ่านนั้น ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้คนไทยทุกคนทั้งที่อยู่ในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา สามารถค้นคว้าหาความรู้และเข้าถึงความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาจากสื่อหลากหลายในยุคโลกาภิวัตน์ อย่างไรก็ตามหากมีการผลักดันให้คนไทยอยากอ่านได้สำเร็จ แต่หากขาด “แหล่งการเรียนรู้” หรือ “ห้องสมุด” ที่เอื้ออำนวยและเป็นปัจจัยส่งเสริมแล้ว การสร้างให้คนไทยเกิดอุปนิสัยรักการอ่าน ก็คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก...แสนยาก..!!

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้ริเริ่มนโยบายห้องสมุด 3 ดี และได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงห้องสมุดประชาชนและห้องสมุดในสถานศึกษาต่าง ๆ ให้เป็นห้องสมุดที่มี “หนังสือดี บรรยากาศดี และบรรณารักษ์ดี” ครบครัน

เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของห้องสมุด 3ดี แล้ว คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “บรรณารักษ์ดี” นับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากบรรณารักษ์เป็นองค์ประกอบเพียงอย่างเดียวที่มีชีวิต และสามารถพัฒนาสมรรถภาพให้สูงขึ้นได้ นอกจากนั้นบรรณารักษ์ยังสามารถกำกับดูแล อีก 2 ดี ที่เหลือได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถเพิ่ม “ดี4 หรือการบริหารจัดการดี” (Good Management)ให้แก่ห้องสมุดได้ ดังนั้นหากมี “บรรณารักษ์ดี” แล้ว อย่างว่าแต่พัฒนา “ห้องสมุด 3 ดี” ต่อให้เป็น“ห้องสมุด 10 ดี” ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก..!!

แม้ว่าการพัฒนาสมรรถนะ (Competency) ของบรรณารักษ์ จะเป็นแนวทางแห่งการพัฒนาแบบยั่งยืน แต่การพัฒนาจนให้ได้มาซึ่ง “บรรณารักษ์ที่ครบเครื่อง” นั้น จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝน และเรียนรู้ ซึ่งจากการศึกษาหลักสูตรด้านบรรณารักษ์ทั้งของไทยและเทศแล้ว ทำให้สามารถสรุปวิชาหลัก ๆ ที่ต้องศึกษา ได้แก่ การวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ โดยวิชานี้นอกจากจะเน้นให้รู้จักถึงระบบสืบค้นพื้นฐาน และความรู้ทักษะพื้นฐานการใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว ยังเน้นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และการพัฒนากลยุทธ์การแก้ไขด้านเทคโนโลยีใหม่

การบริการสารสนเทศ นอกจากวิชานี้สอนให้มีจิตบริการ (Service Mind) และรู้จักวิธีการบริการ ยังเน้นการสอนให้บรรณารักษ์เกิดการสร้างแนวคิดใหม่ที่จะนำการกำหนดแนวทางในการบริการในรูปต่าง ๆ ของห้องสมุดอีกด้วย ซึ่งเป้าประสงค์หลักของทั้งสองวิชา ก็คือ การทำให้ได้มาซึ่ง บรรณรักษ์ที่ “รู้ดี” และ “บริการดี”...
ยุคการจัดการความรู้ทุกอย่างต้องดำเนินการอย่างกระชับ ฉับไว แม่นยำ ถูกต้อง และรวดเร็ว ห้องสมุดในฐานะที่เป็นองค์กรระบบเปิดที่มีชีวิต จึงต้องขานรับการเปลี่ยนแปลง โดยการปรับเปลี่ยนสถานะและบทบาทของตนเองเสียใหม่ เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนต่อไปทั้งในวันนี้และอนาคต…เพราะอย่างน้อยหาก “ห้องสมุดอยู่รอด และบรรณารักษ์มัดใจนักอ่านได้” การส่งเสริมการอ่านและการศึกษานอกระบบไทย ก็จะมี “กำลังหนุน” ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อย...

“ภาระที่หนักอึ้ง” ก็คงต้องหวังพึ่ง “บรรณารักษ์และชาวห้องสมุดทุกท่าน” และเชื่อว่าทุกท่านต่างรู้สึกยินดีที่จะทำอยู่แล้ว...จริงไหม..!?

ที่มา : http://www.siamrath.co.th/uifont/Articledetail.aspx?nid=4520&acid=4520

ข้อปฏิบัติ 10 ข้อเพื่อการเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่


จริงๆ บทความที่ผมเอามาเล่าในวันนี้เป็นบทความที่ค่อนข้างเก่า แต่ผมคิดว่า ในเมืองไทยเรื่องเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ก็ได้ เป็นบทความที่ Michael Stephens เขียนขึ้น เพื่อใช้สำหรับสอนนักศึกษา ในวิชา Introduction to Library and Information Science

บทความนี้ ชื่อว่า “Ten Rules for the New Librarians“ ได้พูดถึง ข้อปฏิบัติ 10 ข้อเพื่อการเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่ ไม่อยากจะเชื่อว่าเขียนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (Michael on June 30, 2006)

ข้อปฏิบัติเพื่อเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่มีดังนี้

1. Ask questions (ตั้งคำถาม)- ในขณะที่ถูกสัมภาษณ์งานบรรณารักษ์ อย่าให้คนสัมภาษณ์ถามเราอย่างเดียวบรรณารักษ์ยุคใหม่ควรจะต้องรู้เรื่องของห้องสมุดนั้นๆ ด้วย เช่น ถามคำถามว่าตอนนี้ห้องสมุดมีโครงการไอทีมากน้อยเพียงใด และมีแผนนโยบายของห้องสมุดเป็นอย่างไร

2. Pay attention (เอาใจใส่)- แล้วก็เวลาสัมภาษณ์งานบรรณารักษ์ ก็ขอให้มีความเอาใจใส่และสนใจกับคำถาม ที่คนสัมภาษณ์ถามด้วย ไม่ใช่ยิงคำถามอย่างเดียว ในการเอาใจใส่นี้อาจจะแทรกความคิดเห็นของเราลงไปในคำถามด้วย

3. Read far and wide (อ่านให้เยอะและอ่านให้กว้าง)- แน่นอนครับ บรรณารักษ์เราต้องรู้จักศาสตร์ต่างๆ รอบตัวให้ได้มากที่สุด

4. Understand copyright (เข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์)- เรื่องลิขสิทธิ์ถึงแม้ว่าตัวเรื่องจริงๆ จะเกี่ยวกับกฎหมาย แต่มันมีความเกี่ยวข้องกับห้องสมุดโดยตรงในเรื่องของการเผยแพร่สารสนเทศต่างๆ

5. Use the 2.0 tools (ใช้เครื่องมือ 2.0)- ตรงๆ เลยก็คือการนำเอา web 2.0 มาประยุกต์ใช้กับการให้บริหารในห้องสมุด หรือบางคนอาจจะเคยได้ยินเรื่อง library 2.0 ก็ว่างั้นแหละ ตัวอย่างของการเอาเครื่องมือด้าน 2.0 ลองอ่านจากบทความ “10 ​วิธีที่ห้องสมุดนำ​ RSS ​ไป​ใช้”

6. Work and Play (ทำงานกับเล่น)- อธิบายง่ายๆ ว่าทำงานอย่างมีความสุข บรรณารักษ์ยุคใหม่อย่างน้อยต้องรู้จักการประยุกต์การทำงานให้ ผู้ทำงานด้วยรู้สึกสนุกสนานกับงานไปด้วย เช่น อาจจะมีการแข่งขันในการให้บริการกัน หรือประกวดอะไรกันภายในห้องสมุดก็ได้

7. Manage yourself (จัดการชีวิตตัวเอง)- บางคนอาจจะบอกว่าทำไมบรรณารักษ์ต้องทำโน้นทำนี่ “ฉันไม่มีเวลาหรอก” จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าไม่มีเวลาหรอกครับ แต่เพราะว่าเขาไม่จัดการระเบียบชีวิตของตัวเอง ดังนั้นพอมีงานจุกจิกมาก็มักจะบอกว่าไม่มีเวลา ดังนั้นบรรณารักษ์ยุคใหม่นอกจากต้องจัดการห้องสมุดแล้วการจัดการตัวเองก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

8. Avoid technolust (ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี)- ห้ามอ้างว่าไม่รู้จักเทคโนโลยีโน้น หรือเทคโนโลยีนี้ บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องหัดใช้เทคโนโลยีให้ได้เบื้องต้น (เป็นอย่างน้อย)

9. Listen to the seasoned librarians (รับฟังความคิดเห็นของบรรณารักษ์ด้วยกัน)- อย่างน้อยการรับฟังแบบง่ายๆ ก็คือ คุยกับเพื่อนร่วมงานดูว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ในการบริการ บรรณารักษ์ต้องช่วยเหลือกัน อย่างต่อมานั่นก็คือ การอ่านบล็อกของบรรณารักษ์ด้วยกันบ้าง บางทีไม่ต้องเชื่อทั้งหมด แต่ขอให้ได้ฟังความคิดเห็นกันบ้าง

10. Remember the Big Picture (จดจำภาพใหญ่)- ภาพใหญ่ในที่นี้ ไม่ใช้รูปภาพนะครับแต่เป็นมุมมองของความเป็นบรรณารักษ์อุดมการณ์บรรณารักษ์ จรรยาบรรณและสิ่งต่างๆ ที่จะช่วยเราให้คิดถึงความเป็นบรรณารักษ์

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ คิดว่าทำได้กันมั้ย
สำหรับผมก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามทั้งหมด บางข้ออาจจะทำได้ไม่เต็มที่แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำมัน
ที่มา : http://blog.lib.kmitl.ac.th/?p=593

บรรณารักษ์แนวใหม่ กว่าจะได้ต้องใช้เวลาอีกกี่ชาติ

พี่อุ๊ พี่บรรณารักษ์ในวงการส่งบทความนี้มาให้ดู พบว่าบทความดังกล่าว ตีพิมพ์ในคอลัมน์สยามประเทศไทย ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 16 มิถุนายน 2552 หน้า 21 เป็นอันตาลีตาลานรีบอ่านรายละเอียด มีอะไรเกี่ยวข้องกับตูหว่า (โหลดไฟล์บทความฉบับเต็มอ่านได้จ้า)

....เนื้อหาสำคัญดันเป็นเรื่องของระบบ เช่น การโยกย้าย ทุจริต คอรัปชั่น ในบางวงการที่เกี่ยวข้องกับบรรณารักษ์ ทำให้งบประมาณนั้นไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนห้องสมุด และศักยภาพของบรรณารักษ์ ทำให้บรรณารักษ์ขาดการพัฒนาตนเอง และมีลักษณะที่ไม่ต่างจากภัณฑารักษ์ และนักอนุรักษ์....

คุณมกุฎ อรดี กล่าวถึง บรรณารักษ์พันธุ์ใหม่ว่า “ต้องเก่งเรื่องการระบายหนังสือไปสู่คนทั่วไป (หรือผู้ใช้ห้องสมุด) จัดรายการลดแลก แจกแถม ให้คนเข้ามายืมหนังสือเยอะๆ ต้องส่งเสริมการอ่าน เป็น (แหล่ง) ที่พึ่งของคนที่คิดอะไรไม่ออก อยากเข้ามาหาความรู้ในห้องสมุด…ที่ไม่ใช่คนนั่งเฝ้าหนังสือ หรือคอยขู่คนที่ยืมหนังสือว่าอย่าคุยเสียงดัง อย่าทำหนังสือยับ”

“...อีกเหตุผลหนึ่งที่วิชาชีพบรรณารักษ์ไม่เติบใหญ่ คือ การเรียนการสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ Copy ตะวันตกมาทั้งดุ้น ซึ่งแตกต่างจากสังคมของประเทศไทย ที่เป็นสังคมยากจน ไม่ชอบอ่านหนังสือ....”

ว่าไปแล้ว แม้บทความในมติชนรายวัน ฉบับนี้ นี้ไม่เกี่ยวกับวิชาชีพเราโดยตรง แต่มีสาระสะท้อนอะไรมากมาย

ตัวบรรณารักษ์ต้องรักที่จะเรียนรู้ ผู้บริหารห้องสมุดต้องกระตุ้นและให้ขวัญกำลังให้บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดมีการเรียนรู้ตลอดเวลา นอกจากองค์ความรู้ในวิชาชีพแล้ว ข่าวสารบ้านเมือง ภาพยนตร์ เพลง สังคม Social-Online เทคโนโลยี นิตยสาร หนังสือ การท่องเที่ยว จิปาถะ...เรื่องอะไรก็ได้ที่สนใจ สามารถมาประยุกต์ใช้กับเนื้อหาวิชาได้ และหาเวทีให้ผู้รู้แล้วถ่ายทอด...นอกจากสนุกแล้ว ยังเป็นประเด็นได้เรียนรู้ร่วมกัน เช่น การแทรกหมายเลขหน้าในการพิมพ์เอกสาร ที่น้องนารี จุติ แห่ง ม.นเรศวร เอามานำเสนอ...ก็ทำให้ได้รู้เพิ่มขึ้น

สิริพร ยังสนับสนุนแนวคิดในการเรียนปริญญาที่ 2 หรือ การศึกษาในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง แต่หน่วยงานราชการยังมีระเบียบให้ลาเรียนได้ในระดับที่สูงขึ้นไป หรือตรงกับสาขาวิชาเท่านั้น อ้าวถ้าบรรณารักษ์ใช้ทุนตัวเองเรียนด้านการบริหาร ด้านพัฒนาสังคม ด้านคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพียงแต่หน่วยงานสนับสนุนการลาศึกษาต่อ...จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และร่วมสร้างบรรณารักษ์แนวใหม่บ้างหรือไร...อย่างน้อยก็จะมีบรรณารักษ์ที่เป็น Subject Special ในสาขานั้นๆ แน่นอน...เพราะบางครั้งในแนวกว้าง...บางสถานการณ์เราอาจไม่จำเป็นต้องใช้บรรณารักษ์ที่จบระดับสูงก็ได้...

หรือการไปเรียนภาษา...มีทุนให้นี่แจ๋วไปเลย...อย่าลืมนะว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ก้าวสู่อินเตอร์แล้ว...แล้วบรรณารักษ์อย่างท่านๆ พูดภาษาอังกฤษได้ในระดับไหน ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่อยากให้ตัวเองเป็นฮับทางการศึกษาของแถบประเทศเพื่อนบ้าน...ลาว พม่า เวียดนาม จีน กัมพูชา บรรณารักษ์ร้อยละเท่าไหร่ที่สามารถสื่อสาร ทั้งพูดอ่านเขียน ภาษาอังกฤษได้ในระดับดี...แต่หากยังต้องให่บุคลากรขวนขวายเอง ในขณะที่ปากท้อง ครอบครัวก็เป็นเรื่องสำคัญ...คำตอบก็รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างไร ผู้บริหารท่านเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร คง Work เรื่องนี้เป็นแน่แท้ แม้ว่าผลจะไม่ปรากฏในวาระ 4 ปี แต่ฐานแน่น แน่นอน


และโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะจิต ตามแนวคิดของคุณมกุฎ อรดี ที่จะให้บรรณารักษ์ลดแลก แจก แถม...ซึ่งจะต้องทำ Promotion เป็น อาจใช้งบมาก น้อย ต่างกัน ทำอย่างไรจะทำ Promotion เป็นหล่ะคะ จัดศึกษาดูงานด้านนี้สิคะ...ด้านการต้อนรับ บริษัท Event

และที่สำคัญ ก่อนจะลดอะไรนั้น สำหรับห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา บรรณารักษ์ต้องลดอายุ และลดช่องว่างค่ะ....ไม่ใช่แค่การใช้ครีมหน้าเด้ง แต่รู้ว่านักศึกษาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเค้าสนใจอะไรอยู่ ถ้าบรรณารักษ์อย่างเราๆ จะอ่านกุลสตรี ก็ไม่ผิดใคร แต่เราควรจะรู้ว่านักศึกษาเค้าอ่าน อะเดย์ กัน...อย่างน้อยก็จะได้รู้รูปแบบภาษา การนำเสนอ และกราฟฟิกที่ใช้...จะได้นำเสนอได้อย่างตรงใจย่างน้อยก็ช่วยได้ในกรณีที่งบประมาณจำกัด...ไม่สามารถจ้างบริษัท Event หรือนักประชาสัมพันธ์

ที่มา : http://gotoknow.org/blog/library-librarian/269080

เด็กได้อะไรจากการที่เรา “เล่านิทานอ่านหนังสือให้เขาฟัง”


หากท่านพิจารณาภาพต่อไปนี้ แล้วตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กบ้าง ท่านจะได้คำตอบว่าการที่เราเล่านิทาน อ่านหนังสือกับเด็ก


การที่เด็กได้นั่งอยู่บนตัก และภายในอ้อมแขนอันอบอุ่นของแม่ ผลที่เกิดขึ้นก็คือเด็กจะรู้สึกถึงความรักที่แม่มีต่อเขา มันทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่น เกิดความมั่นใจในตนเอง เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ต้องการของแม่ หรือพ่อซึ่งเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อชีวิตเขา ความรู้สึกเช่นนี้จะนำไปสู่ความรู้สึกไว้วางใจต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว นี่คือพื้นฐานอันสำคัญของการก่อเกิดบุคลิกภาพที่สมบูรณ์เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ความสุขที่เกิดขึ้นจากการที่ได้นั่งอยู่บนตักภายในอ้อมกอดของแม่ฟังแม่อ่านหนังสือให้ฟัง จะฝังตรึงอยู่ในความทรงจำของเด็กไปตลอด และด้วยความสุขที่ว่านี้แหละมันจะกลายเป็นแรงขับให้เด็กคนนี้เกิดความประทับใจในการอ่านหนังสือ เพราะการอ่านมันคือความสุข คือความทรงจำที่ฝังใจ สุดท้ายเขาจะกลายเป็นคนที่รักหนังสือ รักการอ่าน และรักการแสวงหาความรู้ไปตลอดชีวิต

การที่แม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ลูกจะได้ยินเสียงอ่าน ได้มองเห็นภาพประกอบ ได้มองเห็นตัวอักษรที่เป็นสัญญลักษณ์เพื่อแทนภาพนั้นๆ สมองของเด็กจะทำหน้าที่เชื่อมต่อเสียงของแม่ ภาพที่มองเห็น รวมทั้งตัวอักขระที่ปรากฏอยู่เข้าด้วยกัน นี่คือการเกิดขึ้นของการรู้หนังสือ การเกิดภาษา ทั้งภาษาพูด ภาษาอ่าน และภาษาเขียนในคนเรา

เรื่องราว และเนื้อหาที่ปรากฎในหนังสือจะถูกสมองเก็บรายละเอียดต่างๆ เข้าไป ผ่านการอ่าน เกิดกระบวนการวิเคราะห์และตีความ สุดท้ายมันก็กลายเป็นความรู้ของเด็กไป ความรู้เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว คุณธรรม จริยธรรม ประเพณีปฏิบัติ รูปแบบการดำเนินชีวิต ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือจะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นความรู้ในตัวเด็ก ทั้งหมดคือกระบวนการการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการอ่าน และความรู้ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็จะมีผลต่อความคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรมของเด็กต่อไป

ผู้ใหญ่ได้อะไรจจากการเล่านิทานอ่านหนังสือให้เด็กฟัง
หากการสร้างสมาชิกรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพที่สมบูรณ์คือหน้าที่ของผู้ใหญ่อย่างเรา “การเล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟัง” ก็คือเครื่องมือที่ช่วยให้ภาระกิจอันนี้ของเรามีความสมบูรณ์ขึ้น หากลูกหลานของเรารักการอ่าน รักที่จะแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง เขาก็สามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อลูกหลานมีคุณภาพนั่นก็คือหลักประกันในอนาคตของเราเองหากถึงเวลาที่เราจะต้องพึ่งพาพวกเขา

การเล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ทำให้เราได้ใกล้ชิดลูกมากขึ้น ทำให้ครอบครัวของเรามีความอบอุ่น

การเล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟัง คือโอกาสที่ช่วยให้เราได้ฝึกฝนและกระตุ้นสมองของเราอยู่เสมอ สมองก็ไม่แตกต่างจากกล้ามเนื้อที่จำเป็นจะต้องใช้งานอย่างสม่ำเสมอ หากไม่มีการใช้งาน กล้ามเนื้อของเราก็จะฝ่อลีบ และสมองก็เช่นกัน การได้อ่านหนังสือและเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ลูกฟังทุกวันจึงเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นสมองของเราให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา

ที่มา : http://www.thaisafenet.org/activity_news.php?act=show&Id=98-.html

บ่มเพาะนักอ่านตัวน้อยที่ห้องสมุด




เมื่อตอนที่ย้ายมาสหรัฐอเมริกาใหม่ๆ และยังไม่มีลูก ห้องสมุดประชาชน หรือ Public Library เป็นสถานที่โปรดที่ฉันชอบแวะเวียนไปเป็นประจำ จนทำให้มีความใฝ่ฝันอยากเข้าทำงานในห้องสมุด ซึ่งก็ได้ทำสมใจโดยเริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานเก็บหนังสือในห้องสมุด และต่อเติมความฝันของตัวเองด้วยการร่ำเรียนต่อสาขาบรรณารักษ์ศาสตร์ จนมีโอกาสได้ทำงานในตำแหน่งบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนอยู่ระยะหนึ่ง เรียกได้ว่าชีวิตของฉันในสหรัฐอเมริกาผูกพันกับห้องสมุดมาก และฉันต้องการส่งผ่านความผูกพัน และความประทับใจนี้ให้แก่ลูก รวมทั้งปลูกฝังให้ลูกชายได้รู้จักรักการอ่าน และชอบหนังสือ

เริ่มต้นบ่มเพาะนักอ่าน
ฉันเริ่มต้นแนะนำหนังสือให้แก่ลูกตั้งแต่ที่บ้าน นอกจากการอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่แบเบาะแล้ว ฉันยังหาของเล่นให้ลูกที่ทำในรูปแบบของหนังสือ เมื่อลูกเริ่มใช้มือหยิบจับอะไรได้บ้าง ฉันซื้อหนังสือที่ทำด้วยผ้า ที่มุมมียางสำหรับกัด หรือที่เรียกว่า teether book ให้ลูกเล่น ได้คุ้นเคยกับหนังสือ พอโตขึ้นมาอีกนิด ก็ซื้อหนังสือโฟม มีรูปสัตว์ที่แกะออกจากหนังสือได้ แล้วก็มาเป็นหนังสือลอยน้ำที่ทำด้วยไวนิล ทั้งหมดนี้ดูเป็นของเล่นมากกว่าที่จะเป็นหนังสืออ่านจริงจัง แต่ก็ช่วยให้ลูกฉันคุ้นเคยกับหนังสือ ได้สนุกกับการเปิด ปิด เปิด ปิด หนังสือเล่น และคำว่า Book ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคำแรกที่น้องธีร์ ลูกชายของฉันพูดได้

คืนไหนที่ฉันพาลูกเข้านอนเอง ฉันมักจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอนเสมอ อ่านทั้งหนังสือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ลูกฟังบ้างไม่ฟ้งบ้างก็ไม่เป็นไร ถือว่าให้ผ่านเข้าหูก็ยังดี ซึ่งฉันก็เพิ่งพบไม่นานนี้เองว่า ความพยายามของฉันก็ได้ผลเหมือนกัน เมื่อเช้ามืดวันหนึ่งลูกตื่นมา แล้วหยิบหนังสือมาเปิดๆ นอนดูเล่น แล้วพูดบางคำที่อยู่ในหนังสือเล่มนั้น แสดงว่าแม้ท่าทางเหมือนจะไม่ได้ใส่ใจ แต่ลูกก็จำสิ่งที่ฉันอ่านให้ฟังได้ แค่นี้แม่ก็ชื่นใจ นอนฟังลูกไปยิ้มไป

พาลูกเข้าห้องสมุด


เริ่มคุ้นกับหนังสือที่บ้านแล้ว พอลูกเริ่มเข้าวัยเตาะแตะ ฉันก็มักจะกระเตงลูกไปห้องสมุดด้วยกันทุกครั้ง ที่ไปเลือกหาหนังสือมาอ่านทั้งสำหรับลูก และสำหรับตัวเอง

ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบการบริการห้องสมุดที่ดี ห้องสมุดประชาชนมีให้บริการอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ไม่ว่าฉันจะย้ายไปอยู่ที่ไหน เมืองใด เล็ก หรือใหญ่ ทุกที่ที่ไปอยู่ ล้วนมีห้องสมุดบริการทั้งนั้น คุณภาพ และขอบเขตการบริการอาจมากน้อยลดหลั่นกันไปบ้างตามขนาดและงบประมาณของเมืองนั้น ก็ยังดีกว่าไม่มีเสียเลย

ห้องสมุดประชาชนในสหรัฐอเมริกาเปิดให้บริการต่อประชาชนที่มีถิ่นฐานที่อยู่ในเมือง โดยจะให้บริการยืมหนังสือทั้งสารคดี บันเทิงคดีทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ตลอดจนสื่อในรูปแบบอื่น เช่น วีดีโอ ดีวีดี ซีดี ซีดีรอม มีคอมพิวเตอร์ให้บริการพร้อมอินเตอร์เน็ต ซึ่งทั้งหมดนี้สมาชิกห้องสมุดสามารถใช้บริการได้ฟรีค่ะ นอกจากนี้ที่ห้องสมุดยังมีบรรณารักษ์ผู้มีความรู้ คอยให้บริการตอบคำถาม ไขกุญแจไปสู่ข้อมูลทุกแขนงที่เราต้องการค้นคว้า

สิ่งที่ฉันชอบและประทับใจมากคือ ห้องสมุดประชาชนทุกที่จะให้ความสำคัญกับการบริการแก่เยาวชน มีมุมที่จัดไว้สำหรับเด็ก ซึ่งมักจะตกแต่งด้วยสิ่งละอันพันละน้อย ดูน่ารัก และน่านั่งเล่น ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้นวมนุ่ม โต๊ะเก้าอี้ขนาดเล็กหลากสีสัน ตุ๊กตาขนฟูนุ่มนิ่ม คอมพิวเตอร์ซึ่งมีโปรแกรมเกมส์เพื่อการศึกษาสำหรับเด็กๆ มีตัวต่อ จิ๊กซอ ของเล่นเล็กๆ น้อยๆ ให้เด็กได้เพลิดเพลิน นอกจากการไปนั่งอ่านหนังสือ ซึ่งบรรยากาศที่ดีแบบนี้ ภาพของพ่อแม่เด็กที่นั่งอ่านหนังสือให้ลูกตัวน้อยฟังในห้องสมุด จึงเป็นภาพที่เห็นกันอย่างคุ้นตา ตรงนี้ทำให้ลูกเห็นคนอื่นอ่านหนังสือ ช่วยให้เรียนรู้เกี่ยวกับอ่านหนังสืออีกทางหนึ่ง นอกจากจะเห็นจากแม่ และฟังแม่อ่าน

เวลาพาลูกชายไปห้องสมุด ฉันมักจะปล่อยให้ลูกได้เดินเล่นหยิบหนังสือออกมาดู ปีนป่ายโต๊ะบ้าง นั่งเล่นกับตุ๊กตาบ้าง เพื่อให้ลูกรู้สึกเพลิดเพลินที่จะอยู่ในห้องสมุด แต่ทั้งหมดนี้ก็อยู่ในความควบคุมนะคะ ไม่อย่างนั้นอาจจะโดนบรรณารักษ์เอ็ดเอาได้ หากปล่อยให้ลูกรื้อหนังสือออกจากชั้นมาเล่นเสียวุ่นวาย ระหว่างปล่อยลูกได้เล่นเพลิน ก็เลือกหนังสือไปพลาง หนังสือมีให้เลือกมากมาย ยืมไปอ่านได้ฟรี สมัครสมาชิกก็ฟรีทำให้มีโอกาสได้อ่านหนังสือดีหลายเล่ม และช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้เยอะทีเดียวค่ะ

ไปฟังนิทานที่ห้องสมุด
กิจกรรมหลักสำหรับเด็กที่ขาดไม่ได้ของห้องสมุดประชาชนคือ การเล่านิทาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่บรรณารักษ์แผนกเยาวชนกำหนดวันเล่านิทาน แบ่งวัน-เวลา ตามอายุของเด็ก มีตั้งแต่ Lapsit Storytime สำหรับเด็กตั้งแต่ 6 เดือน – 18 เดือน Toddler Storytime สำหรับเด็กวัย 18 เดือน – 3 ปี Preschool Storytime สำหรับเด็กวัย 3-5 ปี School-Age สำหรับวัยเข้าโรงเรียน ตลอดจนถึงโปรแกรมสำหรับเด็กวัยรุ่น

เมืองซาคราเมนโต้ ที่ฉันอยู่เป็นเมืองใหญ่พอสมควร มีห้องสมุดที่อยู่ในระบบทั้งหมด 27 สาขา แต่ละห้องสมุดก็จะมีการจัดโปรแกรมสำหรับเด็กตามวันต่างๆ กันไป ห้องสมุดใกล้บ้านที่ฉันใช้บริการมีกิจกรรมการเล่านิทานสำหรับเด็กวัยน้องธีร์ ทุกวันพุธ เวลา 10 โมงเช้า วันแรกที่พาไปน้องธีร์ก็ดูสนุกสนานกับกิจกรรมพอควร ลูกชอบเวลาได้ร้องเพลง If you are happy หรือเพลงหากว่าเรากำลังสบาย จงปรบมือพลันนั่นละค่ะ

การเล่านิทานนั้น บรรณารักษ์แผนกเยาวชนจะเลือกหนังสือมาอ่านให้เด็กๆ ฟัง เรื่องที่เลือกมาอาจจะเป็นไปตามเทศกาล หรือฤดูกาลในช่วงนั้น อย่างเช่นช่วงที่เข้าสู่ฤดูหนาว บรรณารักษ์ก็เลือกหนังสือที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหิมะตก มีตุ๊กตาหิมะ และก็จะนำหนังสือที่มีเรื่องราวคล้ายๆ กัน มาแนะนำให้พ่อแม่ได้เลือกยืมไปอ่านให้ลูกฟังที่บ้าน หลังจากฟังเรื่องราวในหนังสือจบ บรรณารักษ์ก็มีกิจกรรมให้เด็กวาดรูปเล่นบ้าง หรือทำสิ่งประดิษฐ์เล็กๆ น้อยที่เข้ากับเนื้อหาที่เล่าในวันนั้น วันที่บรรณารักษ์เล่าเรื่องเกี่ยวกับฤดูหนาว น้องธีร์ก็ได้ทำโปสการ์ด และระบายสีรูปตุ๊กตาหิมะ โดยความควบคุมและช่วยเหลือของแม่นะคะ (ฮา)

นอกจากฟังนิทาน และวาดรูปทำสิ่งประดิษฐ์แล้ว บรรณารักษ์ก็จะทำกิจกรรมร้องเพลง สำหรับเด็กๆ ส่วนใหญ่เป็นNursery Rhymes ซึ่งตรงนี้แม่ชอบ และพลอยได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะแม่เป็นคนไทยไม่ค่อยรู้จักเพลงฝรั่งสำหรับเด็กมากนัก จึงมีโอกาสได้รู้จักทำนองมาร้องให้ลูกฟังที่บ้าน

กิจกรรมอื่นที่น่าสนใจสำหรับเด็กๆ
ในฐานะที่ทำงานห้องสมุดจึงอยากจะนำประสบการณ์มาบอกเล่าเพิ่มเติม เกี่ยวกับกิจกรรมอื่นๆ ที่ห้องสมุดจัดให้สำหรับเด็กๆ นอกเหนือจากกิจกรรมหลักที่เกี่ยวกับหนังสือ ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ห้องสมุดแทบทุกแห่งจะจัดกิจกรรม Summer Reading Program เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนอ่านหนังสือกันมากขึ้น โดยอาจมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่นักอ่านตัวน้อย ที่ขยันมายืมหนังสือจากห้องสมุดไปอ่าน

นอกจากนี้ห้องสมุดยังมีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ และให้ความเพลิดเพลินอื่นๆ แก่ชุมชนด้วย เช่น แสดงหุ่นโชว์ แสดงมายากล นำสัตว์เลื้อยคลานแปลกๆ มาแสดงให้ชม และการนำสัตว์ป่าหายากมาพบปะกับเด็กๆ ซึ่งรายการหลังนี้องค์กรที่ดูแลและช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ถูกทอดทิ้ง จะนำสัตว์เหล่านั้นมาให้ชมถึงห้องสมุด พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนั้น และอนุญาตให้เด็กๆ และผู้เข้าชมได้สัมผัสสัตว์เหล่านั้นในระยะใกล้ชิด ฉันเองมีโอกาสได้ลูบขนนุ่มของลูกจิงโจ้ตัวน้อย ได้เห็นตัวจริงของตัวลีเมอร์(Lemur) ได้ลูบขนของนกเค้าแมวสีขาว ก็ที่ห้องสมุดนี่เอง

ห้องสมุดบางที่ก็จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ยิ่งกว่านั้น เพื่อนของฉันที่อยู่ต่างรัฐ เล่าว่าห้องสมุดที่เธอทำงานอยู่ จัดโปรแกรมชื่อว่า Paws to read เป็นกิจกรรมสำหรับเด็กที่อ่านหนังสือช้า หรืออ่านตะกุกตะกัก ไม่ค่อยมั่นใจตัวเองมาอ่านหนังสือให้สุนัขฟังโดยมีผู้ดูแลสุนัขนั่งอยู่ด้วย ซึ่งสุนัขเหล่านี้เป็น Therapy dogs ที่ผ่านการอบรมและได้รับใบรับรอง เพื่อนเล่าว่าเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ชอบ อ่านหนังสือไป ก็เล่นกับสุนัขไป เป็นภาพที่ดูน่ารักมากๆ

กิจกรรมเหล่านี้บรรณารักษ์มักจะโยงให้เข้ากับหนังสือที่ห้องสมุดมีให้บริการ เพื่อที่ว่าหลังจากการชมการแสดงต่างๆ เหล่านี้ หากเด็กๆ สนใจจะหาความรู้เพิ่มเติม หรืออ่านหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมที่ชมไป ก็สามารถยืมหนังสือจากห้องสมุดไปอ่านต่อที่บ้านได้

แม้ว่ากิจกรรมที่เล่ามาข้างต้น ฉันยังไม่มีโอกาสพาน้องธีร์ไปดู ด้วยตรงกับวันทำงานเป็นส่วนใหญ่ แต่ตั้งใจไว้ว่าถ้ามีโอกาสก็ต้องพาลูกไปดูให้ได้ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้หลากหลาย

ฉันหวังว่าประสบการณ์การไปห้องสมุด จะเป็นความประทับใจและช่วยบ่มเพาะให้ลูกรักการอ่านเหมือนอย่างที่ฉันรัก เพราะฉันเชื่อว่านอกเหนือจากความเพลิดเพลินแล้ว การอ่านหนังสือเป็นการช่วยพัฒนาความคิด สร้างเสริมจินตนาการให้แก่ลูก รวมทั้งสอนให้ลูกรู้จักการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วยค่ะ
ที่มา : http://pomme07.multiply.com/journal/item/11/11

สาระน่ารู้เกี่ยวกับ หอสมุดแห่งชาติ


ที่ตั้ง : สำนักหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300โทรศัพท์ : 0-2281-5212, 0-2281-5313
—————————————————————
ประวัติหอสมุดแห่งชาติ
หอสมุดแห่งชาติปัจจุบันของไทย สถาปนาขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระมหากษัตราธิราชในพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยการรวมหอพระมณเฑียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณ และหอพุทธสาสนสังคหะเข้าด้วยกัน ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชโองการประกาศจัดการ หอพระสมุดวชิรญาณ ให้เป็น หอสมุดสำหรับพระนคร เมื่อ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๘ และได้วิวัฒนาการเป็นสำนักหอสมุดแห่งชาติปัจจุบัน

หอพระสมุดวชิรญาณ เดิมตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้ย้ายมาตั้งอยู่ข้างนอกประตูพิมานไชยศรี คือศาลาสหทัยสมาคม แต่การบริหารและการให้บริการของหอพระสมุดเป็นสมาคม และเป็นสโมสรสำหรับสมาชิกเท่านั้น ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปได้เสด็จทอดพระเนตรกิจการหอสมุดแห่งชาติอังกฤษและหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร มีพระราชดำริว่า หอพระสมุดวชิรญาณที่ทรงร่วมกันจัดตั้งขึ้นนั้นเป็นหอพระสมุดสำหรับราชสกุล แม้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในทางวิชาการความรู้ยังไม่กว้างขวาง เพราะส่วนมากเป็นสมาชิกและอยู่ในวงแคบ หากขยายกิจการหอพระสมุดออกไปให้เป็น หอสมุดสำหรับพระนคร เพื่อพสกนิกรจะได้แสวงหา ประโยชน์ต่างๆจะได้จากการอ่านหนังสือ คงจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นสมตามพระราชประสงค์ที่จะทรงเฉลิมพระเกียรติยศสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นหอสมุดสำหรับพระนครขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๔๘ และพระราชทานนามว่า หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ตามพระสมณนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครได้พัฒนาและเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ เมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มาไว้ที่ ตึกใหญ่ริมถนนหน้าพระธาตุซึ่งเรียกว่าตึกถาวรวัตถุ และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๕๙


กิจการของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับได้มีการรวบรวมหนังสืออันมีค่ายิ่งของประเทศไว้ได้เป็นจำนวนมากและยังได้วางรากฐานการจัดห้องสมุดตามมาตรฐานสากลหลายประการ เช่น การจัดหมวดหมู่หนังสือ ทำบัตรรายการค้นหนังสือ ทำบรรณานุกรม และการจัดพิมพ์หนังสือที่มีคุณค่าต่างๆ จำนวนมาก เป็นต้น

ใน ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯให้แยกหอพระสมุด วชิรญาณสำหรับพระนครออกเป็น ๒ หอ คือ หอพระสมุดวชิราวุธ ตั้งอยู่ที่ตึกถาวรวัตถุเช่นเดิมให้เป็นที่เก็บหนังสือฉบับพิมพ์และ หอพระสมุดวชิรญาณ ให้ใช้เป็นที่เก็บหนังสือตัวเขียนและตู้พระธรรม

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ รัฐบาลจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นและมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกำหนดให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร มีฐานะเป็นกองหนึ่งในกรมศิลปากรเรียกว่า กองหอสมุดและได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นหอสมุดแห่งชาติในเวลาต่อมา หอสมุดแห่งชาติได้พัฒนากิจการเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับมี ผู้ใช้บริการจำนวนมากจนถึง พุทธศักราช ๒๕๐๕ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติเป็นอาคารทรงไทย สูง ๕ ชั้นขึ้น ที่บริเวณท่าวาสุกรี ถนนสามเสน และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙ สำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นอาคารทรงไทย ๕ ชั้น บนเนื้อที่ประมาณ ๑๗ ไร่ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ที่มา : http://www.nlt.go.th/

“มหัศจรรย์แห่งการอ่าน” สู่งานวิจัย


แรงบันดาลใจจากหนังสือเล่ม “มหัศจรรย์แห่งการอ่าน” ของ “เมม ฟ็อกซ์” แปลโดย “รวิวาร โฉมเฉลา” ซึ่งเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ราคา 125 บาท ตีพิมพ์เมื่อปี 2550 เนื้อหาสาระในหนังสือเล่มนั้น ผู้เขียนได้อธิบายถึงประสบการณ์จากการอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟังวันละ 3 เล่ม

วิธีการง่ายๆ ที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญมากนักสำหรับคนทั่วไป (ที่ไม่รักการอ่าน) แต่มันก็เป็นพลังและแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนในสายอาชีพ “ครู” แห่งเมือง “ยโสธร” นำไปประยุกต์และพัฒนาไปเป็นโครงการวิจัย “ชวนกันอ่านหนังสือให้เด็กฟัง” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มี คุณนรรถฐิยา ผลขาว เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อหารูปแบบและแนวทางพัฒนากระบวนการรับรู้ของเด็กๆ จากหนังสือเล่มนั้น

“ก่อนหน้านั้นก็เห็นผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่บอกว่าประเทศไทยมีผู้ไม่อ่านหนังสือถึง 22.4 ล้านคน และเกือบทั้งหมดให้เหตุผลว่าชอบดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุมากกว่า ขณะที่เด็กๆ ที่มีอายุระหว่าง 10-14 ปี ให้เหตุผลที่ไม่อ่านหนังสือว่าเพราะไม่ชอบ และไม่อยากอ่าน….เหมือนขี้เกียจอ่านนั่นเอง”

หัวหน้าโครงการวิจัยยังบอกอีกว่า ไม่นานหลังจากนั้นก็มีข้อมูลทำนองเดียวกันเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ และที่น่าตกใจก็คือ คนไทยอ่านหนังสือน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และสิงคโปร์ ในขณะที่เวียดนามอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 60 เล่ม และสิงคโปร์ 45 เล่ม คนไทยอ่านเพียงปีละ 2 เล่ม เท่านั้น!!!

รู้อย่างนี้แล้ว เรายังจะอยู่เฉยได้อีกหรือ? “พอมีโอกาสได้อ่านหนังสือมหัศจรรย์แห่งการอ่าน ที่เขียนโดย “เมม ฟ็อกซ์” และแปลโดย “รวิวาร โฉมเฉลา” เลยคิดว่าน่าจะลองนำรูปแบบในหนังสือมาใช้ดู ด้วยการทดลองชวนพรรคพวกในกลุ่มที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน”

จากนั้นก็ไปชวนพ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก และครูในศูนย์เด็กเล็กและชั้นอนุบาลในโรงเรียนที่สมัครใจเข้าร่วมงานด้วย ทำให้มีผู้ร่วมโครงการที่เป็นเด็กแรกเกิด-3 ปี จำนวน 92 คน นั่นหมายความว่าจะมีพ่อ-แม่หรือผู้ปกครองเข้ามาร่วมทีมอย่างน้อย 92 คนเช่นกัน

นอกจากมีเด็กแรกเกิดยังมีเด็กๆ อายุ 3-5 ปี อีก 288 คน (บวกผู้ปกครอง 288 คน) และทีมวิจัยอีก 24 คน สรุปคือ งานนี้ขนกันมาทั้งชุมชน

“มีคนถามว่าทำไมต้องมีเด็กแรกเกิดเข้ามาอยู่ในกระบวนการวิจัย เพราะมีการเชื่อกันว่า “เด็กเพิ่งเกิดมันไม่รู้เรื่องหรอก” “ทำไมไม่รอให้ครูสอนตอนเข้าโรงเรียน”….ประเด็นนี้สามารถอธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะนับเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่เส้นประสาทหลักๆ ซึ่งบ่งบอกสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด และจินตนาการสร้างสรรค์ของเด็กจะวางเครือข่ายสำเร็จภายในอายุเพียงหนึ่งขวบเท่านั้น และสมองจะเติบโตมากที่สุดช่วงในช่วงอายุระหว่าง 0-6 ปี ช่วงนี้จึงถือว่าเป็นเวลาทองหากเราจะพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้กับเด็ก” หัวหน้าโครงการวิจัยอธิบาย

และเมื่อได้ทีมวิจัย ได้ผู้ใหญ่มาเป็นคนอ่าน และได้ “เด็ก” เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ต้องทำอะไรนอกจาก “ฟัง” และ “จินตนาการ” ตามแต่ใจจะคิด แนวทางถัดมาคือทีมวิจัยได้ทำการสำรวจข้อมูลการอ่านหนังสือของกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการซึ่งก็ทำให้พบว่า มีบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่เล่านิทาน และหรืออ่านหนังสือให้เด็กฟังเพียง 16% เท่านั้น เมื่อไม่มีกิจกรรมอื่น เวลาของเด็กๆ จึงหมดไปกับการดูโทรทัศน์เฉลี่ย 2-3 ชั่วโมง/วัน

ผลการสำรวจ นอกจากจะทำให้พบว่า เวลาอันมีค่าถูกใช้ไปกับการดูทีวี ข้อค้นพบที่น่าขบคิดอีกประการหนึ่งคือ ในขณะที่เรามีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติกันในกรุงเทพมหานคร เรามีแผงและร้านขายหนังสือที่ตีพิมพ์แต่เรื่องราวที่ไม่ค่อยจะประเทืองสติปัญญาผู้คนเท่าไหร่นั้น แต่ชาวบ้าน และเด็กๆ ในชนบทห่างไกลเข้าไม่ถึงหนังสือ บางครอบครัวไม่มีแม้แต่ปฏิทิน หรือหนังสือพิมพ์เก่า ”ไม่มีที่ซื้อหนังสือสำหรับเด็ก และหนังสือดีๆ สำหรับเด็กมีราคาแพงมาก และร้านหนังสือประจำอำเภอไม่มีหนังสือสำหรับเด็กขาย มีแต่หนังสือพิมพ์และหนังสือจำพวกนิตยสาร ดาราภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนบางแห่งที่พอจะมีหนังสือสำหรับเด็กอยู่บ้างแต่ก็หวงกลัวหนังสือเก่า หรือชำรุด จึงเก็บไว้อย่างมิดชิด ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงหนังสือที่มีอยู่”

เมื่อเห็นปัญหา และรับทราบข้อจำกัด ต่อมาจึงเป็นขั้นตอน “ปฏิบัติการอ่านหนังสือ” โดยโครงการวิจัยมีหนังสือให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองไปอ่านให้เด็กๆ ฟังคนละ 2 เล่ม จะอ่านเวลาไหนก็ได้ เพียงวันละไม่กี่นาที จากนั้น 2-3 เดือน มหัศจรรย์แห่งการอ่านก็เกิดขึ้นหลายประการ

เกิดหนอนหนังสือตัวน้อย ทีมวิจัยที่ออกเก็บข้อมูลพัฒนาการหลังจากการอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟังเล่าว่า หนังสือเป็นแรงดึงดูดให้เด็กๆ เข้าหาอย่างรวดเร็ว จนแทบจะพูดได้เลยว่า “การอ่านเป็นธรรมชาติของเด็ก”

“เช่น น้องนริตา อยู่กับตายายและน้าสะใภ้ วันแรกที่ได้หนังสือไปก็จะอยู่กับหนังสือเกือบทั้งวัน ชนิดไปไหนก็เอาไปด้วย เพราะทั้งบ้านไม่มีหนังสือเลยสักเล่ม เมื่ออ่านให้ฟังเพียง 2-3 ครั้งก็จะจำได้ และบางครั้งก็ส่งเสียงอ่านตาม เพราะเป็นเด็กที่มีความจำดีมาก เช่นเดียวกับ สิริราช อายุ 1 ปี 1 เดือน ซึ่งเวลาไปเยี่ยม ตากับยายที่เลี้ยงก็บอกว่า “เขาชอบหนังสือเป็ด” วันหนึ่งเห็นเป็ดเดินผ่านก็ชี้แล้วร้องเสียงดัง เลียนแบบในหนังสือ

ขณะที่น้องวริศรา อายุ 1 ปี 1 เดือน ซึ่งปกติเป็นเด็กขี้แย เวลาร้องไห้ก็จะอ่านหนังสือให้ฟังก็หยุดร้อง เห็นของเล่นก็ไม่ชอบเท่าหนังสือ”

ความมหัศจรรย์แห่งการอ่านยังไม่หมดเท่านั้น…. คุณแม่ของน้องอายุ 3 เดือนคนหนึ่งสะท้อนว่า “แต่ก่อนคิดว่าเด็กเล็กไม่น่าจะฟังรู้เรื่อง แต่พอเริ่มอ่านหนังสือ เขาจะนั่งนิ่งเหมือนกำลังฟัง อารมณ์ดีและหลับง่ายเวลาอ่านหนังสือให้ฟัง” ซึ่งก็ตรงกับประสบการณ์ของคุณยายที่เลี้ยง น้องนภัสนันท์ วัย 7 เดือน บอกว่า “เวลาตื่นนอนก็จะอ่านให้ฟัง ให้ดูภาพไปด้วยจะคุยอ้อแอ้ตาม อารมณ์ดี จะอ่านและทำท่าทางประกอบตามหนังสือ อุ้มใส่ตักจับมือปรบมือจะชอบมาก”

จากประสบการณ์อันปลื้มปีติของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่นำเอา “การอ่าน” ไปปฏิบัติด้วยตนเองจนเห็นผล แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการช่วยสร้างพัฒนาการทางสมองแก่เด็กๆ ในวัยที่กำลังเจริญเติบโต สิ่งที่แอบซ่อนมาคือ “ความสัมพันธ์” ของเด็กๆ และผู้ใหญ่ และสำคัญกว่านั้นคือ เกิด สังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะบางพื้นที่แม้แต่เด็กที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายก็หันมาให้ความสนใจ เด็กเล็กๆ บางคนจะถือหนังสือ ก.ไก่ มาให้เด็กโตอ่านให้ฟังด้วย เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้เกิดขึ้นในชุมชน

“การอ่าน” -ยังแสดงพลังต่อไป เพราะเมื่ออ่านมาก เด็กๆ รับรู้มาก เกิดการคิดตาม พัฒนาการของเด็กทำให้ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านหลายคนรู้สึกเสียดาย ที่ปล่อยให้เด็กๆ โตมาโดยที่ไม่มีโอกาสได้พัฒนาการเรียนรู้ให้แก่บุตรหลานของตัวเอง เช่นคุณตาวัย 70 ปีบอกว่า “เสียดาย…ไม่รู้มาก่อนว่าหนังสือจะช่วยทำให้เด็กฉลาดได้ขนาดนี้ ถ้ารู้อย่างนี้แต่แรกจะเลี้ยงลูกไม่ให้โง่ นี่เราปล่อยให้ลูกโตจน 7 ปี ถึงเอาไปเข้าโรงเรียน ไม่มีโอกาสแม้แต่จะสัมผัสหนังสือก่อนเข้าโรงเรียน ไม่มีโอกาสอ่านหนังสือให้ลูกฟัง”

เห็นพลังของการอ่านมากขนาดนี้ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหันมาให้ความสำคัญกับการ “อ่านหนังสือให้เด็กฟัง”

ข้อมูลจาก : ฝ่ายงานสื่อสารสังคม (สกว.)
ที่มา : http://www.bookandreading.com/bookreaerch/

การอ่าน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์








ใครๆ ก็รู้ว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพบใน พ.ศ.2544 ว่า โดยเฉลี่ยทั้งประเทศแล้ว คนไทยอ่านหนังสือกันแค่วันละ 2.99 นาทีเท่านั้น (คงหมายความว่าเอานาทีมาแบ่งออกเป็นร้อยส่วน ไม่ใช่ 60 ส่วน ทำไมต้องทำอย่างนั้น ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน)

แม้ว่าตัวเลขนี้ดูอัปลักษณ์อย่างไรก็ตาม ประเทศเพื่อนบ้านเราโดยส่วนใหญ่ก็มีสถิติไม่งดงามไปกว่าเราเท่าไรนัก ยกเว้นสิงคโปร์

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะคนไทยอ่านหนังสือไม่ออกนะครับ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน เด็กไทยใช้เวลาในโรงเรียนมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยส่วนใหญ่ จะแพ้ก็แต่เด็กฟิลิปปินส์เท่านั้น

เช่นเดียวกับอัตราการรู้หนังสือของไทย (ในปี 2543) ก็สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งหมด ยกเว้นแต่ฟิลิปปินส์เท่านั้นเหมือนกัน (รู้หนังสือแปลว่าอ่านและเขียนข้อความง่ายๆ ได้-แน่นอนว่าความสามารถเพียงเท่านี้ยังไม่อำนวยความเพลิดเพลินในการอ่านได้)ผมคิดว่าที่คนไทยอ่านหนังสือน้อยนั้น มีสาเหตุมาจากสองปัจจัย ที่เชื่อมโยงกันและกันอยู่ด้วย และสองสาเหตุนี้หาได้เกี่ยวกับการใช้เวลาในโรงเรียนมากหรือน้อย (เช่น เด็กสิงคโปร์ใช้เวลาในโรงเรียนโดยเฉลี่ยน้อยกว่าเรา แต่อ่านหนังสือมากกว่าเรา) และหาได้เกี่ยวกับความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ (แน่นอนว่าจะอ่านหนังสือ ก็ต้องอ่านออกเสียก่อน แต่อ่านออกอย่างเดียวไม่พอ)


มีเงื่อนไขอื่นๆ ที่สำคัญไม่น้อยกว่าการศึกษา (ในแบบ) ที่ทำให้คนอ่านหนังสือ และเงื่อนไขอื่นๆ ที่ว่านั้นในเมืองไทยไม่มีหรือมีน้อย นั่นก็คือเงื่อนไขทางวัฒนธรรม และเงื่อนไขทางสังคม

ผมขอพูดถึงเงื่อนไขทางวัฒนธรรมก่อน เพราะเรามักลืมไปเวลาพูดถึงการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน

การรับรู้ข่าวสารข้อมูลผ่านการอ่านนั้นเป็นวัฒนธรรม ที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลกไม่นานมานี้เอง แม้ชาติต่างๆ จะคุยโตโอ้อวดว่าตัวมีหนังสือใช้กันมากี่ร้อยกี่พันปีแล้วก็ตาม จนถึงประมาณรัชกาลที่ 5 นี้เอง ที่เพิ่งจะมีวรรณกรรมไทยที่เขียนขึ้นเพื่อการอ่าน ก่อนหน้านั้น เขาสร้างวรรณกรรมเพื่อการฟังหรือการชม (การแสดง) ทั้งนั้น

เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะว่า ตราบเท่าที่ยังไม่มีการพิมพ์ ที่ทำให้สามารถผลิตเอกสารสำหรับอ่านได้ในราคาถูก การอ่านหนังสือก็เป็นสมบัติของอภิสิทธิ์ชนจำนวนน้อยเท่านั้น คนเหล่านี้อาจเป็นเจ้านายหรือเป็นนักบวชและปัญญาชนซึ่งฝากตัวอยู่กับเจ้านายหรือศาสนา

ที่เหลือถึงอ่านออกบ้าง ก็ไม่ได้มีโอกาสอ่าน และทำให้การอ่านไม่เป็นทางผ่านของข่าวสารข้อมูลมากนัก นอกจากประกาศของทางการซึ่งนานๆ ครั้งถึงจะมีติดไว้ให้อ่าน

ถึงในยุโรปก่อนหน้าจะมีการพิมพ์ก็ไม่ต่างอะไรกันนัก คือคนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านหนังสือ แม้ว่าจำนวนของคนที่ผมเรียกว่าอภิสิทธิ์ชนของเขามีมากกว่าของเรา จนพอจะเลี้ยงงานเขียนเพื่อการอ่านได้มากกว่าเรา แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อ่านหนังสือหรอกครับ

ถ้าจะฝึกนิสัยรักการอ่าน สำนึกข้อนี้สำคัญนะครับ เพราะเราควรรู้ว่าเรากำลังปลูกฝังนิสัยที่ไม่เคยมีในวัฒนธรรมไทยมาก่อน จะทำได้สำเร็จ ต้องมีเงื่อนไขอื่นๆ ช่วยกระตุ้นและโน้มน้าวอีกมาก ซึ่งผมรวมเรียกว่าเงื่อนไขทางสังคม


ผมยังอยากจะย้ำเตือนอีกอย่างหนึ่งในแง่วัฒนธรรมด้วยว่า พวกเราที่คุ้นเคยกับการรับสารผ่านการอ่าน อาจไม่รู้สึกว่า การรับสารผ่านการฟังกับการอ่านนั้นต่างกัน ไม่ใช่ต่างในแง่ของสำนวนและถ้อยคำและอารมณ์ซึ่งสื่อผ่านเสียงเท่านั้น แต่ต่างในด้านการใช้สมาธิเพื่อการรับสารก็ต่างกันด้วย

แม้เป็นการสื่อสารด้วยภาษาเหมือนกัน แต่ผมออกจะสงสัยว่าใช้สมองคนละส่วนกันทีเดียว แต่นี่ก็เดาส่งนะครับเพราะผมไม่ทราบว่าผลการศึกษาสมองเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว

การอ่านถึงได้เหนื่อยแก่คนที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการรับสารผ่านการอ่านไงครับ สมองรับสารไปย่อย บางส่วนก็ส่งไปให้หัวใจระทึกหรืออาดูร ท่ามกลางความเงียบ ไม่มีศัพท์สำเนียงใดๆ ให้ได้ยินเลย

ในฐานะคนเขียนหนังสือ ผมยังสงสัยเลยไปด้วยว่า แม้แต่สารที่จะสื่อให้คนอื่นผ่านการอ่าน ยังไม่เหมือนกับการฟังด้วยซ้ำ งานเขียนมันมีกรอบบางอย่างนอกจากภาษาที่บังคับตัวสารในการสื่อ และเจ้ากรอบที่ว่านี้ก็เป็นสารอย่างหนึ่งที่คนอ่านหนังสือต้องจับให้ได้ด้วย

ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ แค่เรื่องวรรคตอนกับย่อหน้า ซึ่งคนที่ไม่อยู่ในวัฒนธรรมการอ่าน อาจจับความหมายของมันไม่ได้ เพราะมันทั้งเหมือนและไม่เหมือนการหยุดพูด

ผมขอออกนอกเรื่องตรงนี้นิดหนึ่ง เราชอบให้นักเรียนอ่านทำนองเสนาะ ที่จริงแล้วทำนองเสนาะคือการรับสารที่เป็นงานเขียนโดยผ่านการฟัง นอกจาก "ทำนอง" และความชัดถ้อยชัดคำแล้ว ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คืออารมณ์ เจื้อยแจ้วไปโดยไม่ทำให้เกิดอารมณ์ ถึงจะ "เสนาะ" อย่างไรก็ไม่ใช่การอ่านทำนองเสนาะ


และเพราะเรามีงานเขียนที่ไม่ได้มีไว้ให้ฟังมากขึ้น นอกจากทำนองเสนาะแล้ว ยังมีการอ่านที่ไม่ต้องมี "ทำนอง" อีกมาก ที่ "กวี" ชอบตะโกนใส่ไมค์นั่นก็อย่างหนึ่ง ทำกันจนเป็นแฟชั่นไปแล้ว แต่การอ่านนวนิยาย, เรื่องสั้น, ฯลฯ อย่างมีศิลปะก็ยังมีอีกนะครับ อ่านเพื่อนำเอาสาร (ซึ่งเป็นทั้งเรื่องราว, ความคิดและอารมณ์ความรู้สึก) ซึ่งเป็นทั้งตัวหนังสือและไม่เป็นตัวหนังสือไปถึงผู้ฟังให้ได้น่ะครับ

อย่าให้การอ่าน (ออกเสียง) มาสิ้นสุดลงแค่ชัดถ้อยชัดคำเลยครับ มีอะไรมากกว่านั้นอีกมากที่เราควรสนใจ
คราวนี้ผมขอพูดถึง เงื่อนไขทางสังคม ซึ่งหากเราเข้าใจตรงนี้ให้ดีแล้ว ก็เป็นไปได้ที่เราจะแหกออกไปจากวัฒน-ธรรมไทยซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมการอ่าน

การทำให้เกิด "โอกาส" ที่จะได้อ่านนั้น สำคัญแน่ ความพยายามของภาครัฐที่จะส่งเสริมให้มีที่อ่านหนังสือและห้องสมุดก็ทำกันมานาน แต่ที่อ่านหนังสือโดยเฉพาะที่เรียกว่าห้องสมุดนั้น ไม่ใช่ที่เก็บหนังสือนะครับ แต่เป็นศูนย์กลางที่จะทำให้คนมาทำอะไรอื่นๆ ซึ่งผูกโยงเข้าไปกับการอ่านด้วย

ห้องสมุดต้องมีกิจกรรมครับ ไม่ใช่กิจกรรมการอ่านโดยตรงก็ได้นะครับ แต่ต้องใช้ความแยบคายในการจัด แฝงการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มขึ้นในกิจกรรมสนุกๆ ให้ผู้เข้าร่วมหันเข้าหาความรู้หรือความเพลิดเพลินจากการอ่าน

สำนักงานสถิติแห่งชาติไปถามชาวบ้านว่า ทำอย่างไรดีถึงจะให้คนชอบอ่านหนังสือมากขึ้น คำตอบแรกที่ได้คะแนนสูงสุดคือทำหนังสือให้ถูกลง หนังสือนั้นเป็นสินค้าประหลาดอีกอย่างหนึ่ง คือ economy of scale หรือปริมาณการผลิตที่สูงขึ้นไม่ทำให้ราคาต่ำลงเท่าไรนัก

แต่หนังสือจะถูกลงมากหากมีห้องสมุดมากๆ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ยืมหนังสือจากห้องสมุดย่อมถูกกว่าไปซื้อหามาอ่านคนเดียว จนกระทั่งราคาไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไร หนังสือเล่มละพันบาท อ่าน 20 คนเหลือเล่มละ 50 บาทเท่านั้น

ปัญหาจริงๆ ของเราจึงอยู่ที่เรามีห้องสมุดน้อยเกินไป ซ้ำที่มีน้อยก็ยังซังกะตายทำไปโดยไม่หาทางที่จะเพิ่มลูกค้าให้มากขึ้นเสียอีก

ผมก็ไม่ทราบว่า เมื่อประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติไปแล้วนี้ เขาเพิ่มงบประมาณห้องสมุดและการฝึกบรรณารักษ์ให้เลิกตายด้านมากน้อยแค่ไหน

แน่นอนว่านิสัยรักการอ่านนั้น หากปลูกฝังมาแต่เด็กในโรงเรียนได้ก็น่าจะอยู่ยั่งยืนต่อไป โรงเรียนและบ้านเป็นผู้ผลิตนักอ่านที่สำคัญที่สุดในโลกปัจจุบัน

แต่การอ่านเป็นสิ่งแปลกปลอมในระบบการสอนของโรงเรียน (ไล่ไปจนถึงมหาวิทยาลัย) นะครับ คืออ่านไปทำไมก็ไม่รู้ เพราะครูไม่ได้อยากให้นักเรียนรู้อะไรมากไปกว่าที่ท่านรู้ การอ่านตำรานั้นช่วยเพิ่มมิติและมุมมองอันหลากหลายให้แก่ประเด็นวิชาการ แต่การศึกษาไทยไม่ต้องการคำตอบที่หลากหลายมิติและมุมมอง ต้องการแต่ที่เชื่อว่า "ถูก" อันเดียว เหมือนข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยแหละครับ คือรู้ว่าอันไหนถูกก็เลือกกามา อย่าคิดมาก เพราะจะทำให้เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้

ตราบเท่าที่การศึกษาไทยเป็นอย่างนี้ ผมก็เชื่อว่าอย่างไรเสียคนไทยก็คงไม่รักการอ่านอยู่ตราบนั้น

อันที่จริงผมควรกล่าวด้วยว่า ในสมัยโบราณของทุกสังคมนั้น รัฐอาจควบคุมข่าวสารข้อมูลทุกด้านไม่ได้ เช่น คุมข่าวลือไม่ได้ คุมคำซุบซิบนินทาไม่ได้ คุมตลกไม่ได้ แต่ข่าวสารข้อมูลอย่างเดียวที่รัฐคุมได้แน่นปั๋งเลย คือข่าวสารข้อมูลผ่านการอ่าน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านอะไรนอกจากที่รัฐหรือศาสนาให้อ่าน

หลังยุคของการพิมพ์แล้ว อำนาจควบคุมอันนี้ของรัฐหายวับไปกับตา ยิ่งกว่านี้คนอ่านหนังสือยังอ่านเงียบๆ อยู่คนเดียว คิดอะไรก็ไม่รู้ น่ากลัวกว่าการฮาแก่ตลกหนังตะลุงเป็นอันมาก

ทั้งนี้ ย่อมทำความตระหนกแก่รัฐอย่างมาก และนี่คือที่มาของการเผาหนังสือ, แบนหนังสือ, หรือจับคนเขียนเข้าคุก ซึ่งยังทำสืบมาในเมืองไทยถึงทุกวันนี้

การอ่านเปิดเสรีภาพที่ควบคุมยากมาก แม้แต่กฎหมายเซนเซอร์ที่เข้มงวดยังคุมไม่อยู่ บางคนบอกว่าหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ของไทยนี่แหละครับ ที่มีส่วนอย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดการปฏิวัติของนักศึกษาประชาชนในปี 1988 ในพม่า

ด้วยเหตุดังนั้น หากรัฐไทยอยากให้คนไทยรักการอ่าน ผมคิดว่าต้องถามตัวเองให้ดีเสียก่อนว่า ไม่รังเกียจเสรีภาพที่ตามมากับการอ่านด้วยนะครับ

* เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1517 ประจำวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552
ที่มา : http://stang.sc.mahidol.ac.th/bookfair/Article002.htm

วิกฤตคนไทยกับการอ่านหนังสือสู่วาระแห่งชาติ


แม้ในปี 2550 ที่ผ่านมาจะยังไม่มีการรวบรวมหรือจัดทำสถิติจำนวนคนไทยที่ไม่รู้หนังสือแต่ หากย้อนกลับไปดูข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่จัดทำตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2548 จะพบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่ไม่อ่านหนังสือถึง 22.4 ล้านคนหรือเกือบ 40% ของประชากรทั้งประเทศ ด้วยเหตุผลว่าชอบดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุมากกว่า ขณะที่เด็กที่มีอายุ 10-14 ปี กว่า 60% ให้เหตุผลในการไม่อ่านหนังสือว่า เพราะไม่ชอบ และไม่สนใจ

ส่งผลให้สถิติการอ่านหนังสือของคนไทยเฉลี่ยเพียงปีละ 2 เล่ม ซึ่งนับว่าต่ำมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่มีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 40-50 เล่ม ส่วนเวียดนาม มีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 60 เล่ม จากเหตุดังกล่าวบ่งบอกให้เห็นว่า การอ่านหนังสือของคนไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤติอย่างแท้จริง

การเดินหน้าผลักดันให้การอ่านหนังสือ จึงถูกหยิบยกให้เป็น วาระแห่งชาติ โดยมีสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศ (ส.พ.จ.ท.) (The Publishers and Booksellers Association of Thailand) เป็นแม่งานหลัก ซึ่งภาระหน้าที่ดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายขององค์กรต่างๆ อย่างเต็มที่

โดยนางริสรวล อร่ามเจริญ นายก ส.พ.จ.ท. เล่าให้ฟังว่า การผลักดันให้การอ่านหนังสือเป็นวาระแห่งชาติ ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เด็กไทยสนใจการอ่านหนังสือ ขณะเดียวกันก็ต้องมียุทธศาสตร์ในการสนับสนุน และแก้ไขปัญหาการไม่อ่านหนังสือของเด็กไทยให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพัฒนาหนังสือให้เหมาะกับความต้องการของเด็กในวัยต่างๆ การจัดทำรูปเล่มที่น่าสนใจ หรือแม้กระทั่งการจัดทำเป็น e-book เพื่อสร้างความแตกต่างและน่าสนใจตรงกับพฤติกรรมเด็กที่นิยมเรื่องของเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า หนังสือกลุ่มเด็กและเยาวชน มีการพัฒนาและจัดพิมพ์ ออกมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของมูลค่าตลาดรวมหนังสือ และคาดว่าในอนาคตหนังสือกลุ่มเด็กและเยาวชนจะเติบโตและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20-25% ขณะที่การกระจายหนังสือให้เข้าถึงมือเด็กและเยาวชน การส่งเสริมให้หนังสือมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม การปกป้องเด็กจากสื่อที่เป็นภัย และขจัดอุปสรรคต่อการอ่านหนังสือของเด็ก โดยเฉพาะเรื่องของเกม และสื่ออื่นๆ ที่ยากแก่การควบคุม ก็ล้วนมีความสำคัญและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้จากข้อมูลของส.พ.จ.ท. ยังระบุว่า ในปี 2550 หากจำแนกตามชื่อเรื่อง จะพบว่ามีหนังสือออกใหม่รวม 11,455 เรื่อง สูงกว่าปี 2549 ในสัดส่วน 31.4% ซึ่งคาดว่าในปี 2551 จำนวนหนังสือออกใหม่จะอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปี 2550 เนื่องจากสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ยังระมัดระวังเรื่องของการผลิตเป็นหลัก โดยยอดจำหน่ายหนังสือในปี 2550 ซึ่งประมาณ 18,000 ล้านบาทนั้น 62.8% มาจากสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ รองลงมาคือ 25% มาจากสำนักพิมพ์ขนาดกลาง ส่วนที่เหลือ 12.2% มาจากสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ขณะที่ภาพรวมของยอดจำหน่ายหนังสือในปี 2551 คาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 19,800 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เด็ก เยาวชน และผู้ที่รักการอ่านหนังสือได้มีโอกาสสัมผัส และเลือกซื้อหนังสือได้ง่ายขึ้น คือเรื่องของจำนวนร้านหนังสือที่เปิดให้บริการ ซึ่งในปี 2550 พบว่า จำนวนร้านหนังสือที่เปิดใหม่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเติบโตถึง 100.31% การเติบโตดังกล่าวเกิดจากร้าน Book Smile ซึ่งเป็นร้านหนังสือในเครือเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ขยายสาขาจำนวนมาก

และหากศึกษาถึงจำนวนร้านหนังสือในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2547 มีร้านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 759 ร้าน จากปีก่อนที่มีอยู่ 676 ร้าน ส่วนในปี 2548 มีร้านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 848 ร้าน และ 955 ร้านในปี 2549 ส่วนในปี 2550 พบว่ามีร้านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 1,913 ร้านเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ดี จำนวนร้านหนังสือที่มีอยู่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร จะพบว่า ร้านหนังสือ 1 ร้านรองรับประชากรเฉลี่ย 32,952 คน ซึ่งเป็นปริมาณตัวเลขที่สูงมาก

นอกจากร้านหนังสือที่เป็นช่องทางการสร้างโอกาสให้คนไทยได้เลือกหาหนังสือที่ตรงกับความสนใจแล้ว การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่มีประจำทุกปีถือเป็นช่องทางหลักที่คนไทยผู้ชื่นชอบหนังสือรอคอยที่จะได้มีโอกาสเข้าชม สัมผัส และเลือกซื้อหนังสือที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นการซื้อเพื่ออ่าน และสะสม ซึ่งในปีนี้ก็เช่นกันงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 36 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 6 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 7 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้น นอกจากจะมีการแสดง จำหน่ายหนังสือและสื่อการศึกษา อบรมสัมมนาเชิงวิชาการ การเปิดตัวหนังสือจากนักเขียนชั้นแนวหน้าและสมัครเล่นแล้ว ยังมีหนังสือให้เลือกหลากหลายทั้งหนังสือทั่วไป หนังสือเด็ก หนังสือแบบเรียน หนังสือเก่า และหนังสือจากต่างประเทศ รวมกว่า 870 บูธ จากสำนักพิมพ์กว่า 400 แห่ง

การเดินหน้าผลักดันให้คนไทยรักการอ่านหนังสือ คงต้องมีแนวคิดและกลวิธีที่มากกว่าการเชิญชวน และหากได้รับการสนับสนุน และผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องรวมพลังอย่างเต็มที่ เชื่อว่าวิกฤติการอ่านที่กำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้คงไม่สายเกินแก้…

* เผยแพร่ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้าการตลาด ฉบับที่ 2401 15 ก.พ. - 18 ก.พ. 2552
ที่มา : http://stang.sc.mahidol.ac.th/bookfair/Article004.htm