วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

บรรณารักษ์แนวใหม่ กว่าจะได้ต้องใช้เวลาอีกกี่ชาติ

พี่อุ๊ พี่บรรณารักษ์ในวงการส่งบทความนี้มาให้ดู พบว่าบทความดังกล่าว ตีพิมพ์ในคอลัมน์สยามประเทศไทย ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 16 มิถุนายน 2552 หน้า 21 เป็นอันตาลีตาลานรีบอ่านรายละเอียด มีอะไรเกี่ยวข้องกับตูหว่า (โหลดไฟล์บทความฉบับเต็มอ่านได้จ้า)

....เนื้อหาสำคัญดันเป็นเรื่องของระบบ เช่น การโยกย้าย ทุจริต คอรัปชั่น ในบางวงการที่เกี่ยวข้องกับบรรณารักษ์ ทำให้งบประมาณนั้นไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนห้องสมุด และศักยภาพของบรรณารักษ์ ทำให้บรรณารักษ์ขาดการพัฒนาตนเอง และมีลักษณะที่ไม่ต่างจากภัณฑารักษ์ และนักอนุรักษ์....

คุณมกุฎ อรดี กล่าวถึง บรรณารักษ์พันธุ์ใหม่ว่า “ต้องเก่งเรื่องการระบายหนังสือไปสู่คนทั่วไป (หรือผู้ใช้ห้องสมุด) จัดรายการลดแลก แจกแถม ให้คนเข้ามายืมหนังสือเยอะๆ ต้องส่งเสริมการอ่าน เป็น (แหล่ง) ที่พึ่งของคนที่คิดอะไรไม่ออก อยากเข้ามาหาความรู้ในห้องสมุด…ที่ไม่ใช่คนนั่งเฝ้าหนังสือ หรือคอยขู่คนที่ยืมหนังสือว่าอย่าคุยเสียงดัง อย่าทำหนังสือยับ”

“...อีกเหตุผลหนึ่งที่วิชาชีพบรรณารักษ์ไม่เติบใหญ่ คือ การเรียนการสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ Copy ตะวันตกมาทั้งดุ้น ซึ่งแตกต่างจากสังคมของประเทศไทย ที่เป็นสังคมยากจน ไม่ชอบอ่านหนังสือ....”

ว่าไปแล้ว แม้บทความในมติชนรายวัน ฉบับนี้ นี้ไม่เกี่ยวกับวิชาชีพเราโดยตรง แต่มีสาระสะท้อนอะไรมากมาย

ตัวบรรณารักษ์ต้องรักที่จะเรียนรู้ ผู้บริหารห้องสมุดต้องกระตุ้นและให้ขวัญกำลังให้บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดมีการเรียนรู้ตลอดเวลา นอกจากองค์ความรู้ในวิชาชีพแล้ว ข่าวสารบ้านเมือง ภาพยนตร์ เพลง สังคม Social-Online เทคโนโลยี นิตยสาร หนังสือ การท่องเที่ยว จิปาถะ...เรื่องอะไรก็ได้ที่สนใจ สามารถมาประยุกต์ใช้กับเนื้อหาวิชาได้ และหาเวทีให้ผู้รู้แล้วถ่ายทอด...นอกจากสนุกแล้ว ยังเป็นประเด็นได้เรียนรู้ร่วมกัน เช่น การแทรกหมายเลขหน้าในการพิมพ์เอกสาร ที่น้องนารี จุติ แห่ง ม.นเรศวร เอามานำเสนอ...ก็ทำให้ได้รู้เพิ่มขึ้น

สิริพร ยังสนับสนุนแนวคิดในการเรียนปริญญาที่ 2 หรือ การศึกษาในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง แต่หน่วยงานราชการยังมีระเบียบให้ลาเรียนได้ในระดับที่สูงขึ้นไป หรือตรงกับสาขาวิชาเท่านั้น อ้าวถ้าบรรณารักษ์ใช้ทุนตัวเองเรียนด้านการบริหาร ด้านพัฒนาสังคม ด้านคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพียงแต่หน่วยงานสนับสนุนการลาศึกษาต่อ...จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และร่วมสร้างบรรณารักษ์แนวใหม่บ้างหรือไร...อย่างน้อยก็จะมีบรรณารักษ์ที่เป็น Subject Special ในสาขานั้นๆ แน่นอน...เพราะบางครั้งในแนวกว้าง...บางสถานการณ์เราอาจไม่จำเป็นต้องใช้บรรณารักษ์ที่จบระดับสูงก็ได้...

หรือการไปเรียนภาษา...มีทุนให้นี่แจ๋วไปเลย...อย่าลืมนะว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ก้าวสู่อินเตอร์แล้ว...แล้วบรรณารักษ์อย่างท่านๆ พูดภาษาอังกฤษได้ในระดับไหน ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่อยากให้ตัวเองเป็นฮับทางการศึกษาของแถบประเทศเพื่อนบ้าน...ลาว พม่า เวียดนาม จีน กัมพูชา บรรณารักษ์ร้อยละเท่าไหร่ที่สามารถสื่อสาร ทั้งพูดอ่านเขียน ภาษาอังกฤษได้ในระดับดี...แต่หากยังต้องให่บุคลากรขวนขวายเอง ในขณะที่ปากท้อง ครอบครัวก็เป็นเรื่องสำคัญ...คำตอบก็รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างไร ผู้บริหารท่านเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร คง Work เรื่องนี้เป็นแน่แท้ แม้ว่าผลจะไม่ปรากฏในวาระ 4 ปี แต่ฐานแน่น แน่นอน


และโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะจิต ตามแนวคิดของคุณมกุฎ อรดี ที่จะให้บรรณารักษ์ลดแลก แจก แถม...ซึ่งจะต้องทำ Promotion เป็น อาจใช้งบมาก น้อย ต่างกัน ทำอย่างไรจะทำ Promotion เป็นหล่ะคะ จัดศึกษาดูงานด้านนี้สิคะ...ด้านการต้อนรับ บริษัท Event

และที่สำคัญ ก่อนจะลดอะไรนั้น สำหรับห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา บรรณารักษ์ต้องลดอายุ และลดช่องว่างค่ะ....ไม่ใช่แค่การใช้ครีมหน้าเด้ง แต่รู้ว่านักศึกษาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเค้าสนใจอะไรอยู่ ถ้าบรรณารักษ์อย่างเราๆ จะอ่านกุลสตรี ก็ไม่ผิดใคร แต่เราควรจะรู้ว่านักศึกษาเค้าอ่าน อะเดย์ กัน...อย่างน้อยก็จะได้รู้รูปแบบภาษา การนำเสนอ และกราฟฟิกที่ใช้...จะได้นำเสนอได้อย่างตรงใจย่างน้อยก็ช่วยได้ในกรณีที่งบประมาณจำกัด...ไม่สามารถจ้างบริษัท Event หรือนักประชาสัมพันธ์

ที่มา : http://gotoknow.org/blog/library-librarian/269080

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น