วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

“มหัศจรรย์แห่งการอ่าน” สู่งานวิจัย


แรงบันดาลใจจากหนังสือเล่ม “มหัศจรรย์แห่งการอ่าน” ของ “เมม ฟ็อกซ์” แปลโดย “รวิวาร โฉมเฉลา” ซึ่งเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ราคา 125 บาท ตีพิมพ์เมื่อปี 2550 เนื้อหาสาระในหนังสือเล่มนั้น ผู้เขียนได้อธิบายถึงประสบการณ์จากการอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟังวันละ 3 เล่ม

วิธีการง่ายๆ ที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญมากนักสำหรับคนทั่วไป (ที่ไม่รักการอ่าน) แต่มันก็เป็นพลังและแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนในสายอาชีพ “ครู” แห่งเมือง “ยโสธร” นำไปประยุกต์และพัฒนาไปเป็นโครงการวิจัย “ชวนกันอ่านหนังสือให้เด็กฟัง” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มี คุณนรรถฐิยา ผลขาว เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อหารูปแบบและแนวทางพัฒนากระบวนการรับรู้ของเด็กๆ จากหนังสือเล่มนั้น

“ก่อนหน้านั้นก็เห็นผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่บอกว่าประเทศไทยมีผู้ไม่อ่านหนังสือถึง 22.4 ล้านคน และเกือบทั้งหมดให้เหตุผลว่าชอบดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุมากกว่า ขณะที่เด็กๆ ที่มีอายุระหว่าง 10-14 ปี ให้เหตุผลที่ไม่อ่านหนังสือว่าเพราะไม่ชอบ และไม่อยากอ่าน….เหมือนขี้เกียจอ่านนั่นเอง”

หัวหน้าโครงการวิจัยยังบอกอีกว่า ไม่นานหลังจากนั้นก็มีข้อมูลทำนองเดียวกันเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ และที่น่าตกใจก็คือ คนไทยอ่านหนังสือน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และสิงคโปร์ ในขณะที่เวียดนามอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 60 เล่ม และสิงคโปร์ 45 เล่ม คนไทยอ่านเพียงปีละ 2 เล่ม เท่านั้น!!!

รู้อย่างนี้แล้ว เรายังจะอยู่เฉยได้อีกหรือ? “พอมีโอกาสได้อ่านหนังสือมหัศจรรย์แห่งการอ่าน ที่เขียนโดย “เมม ฟ็อกซ์” และแปลโดย “รวิวาร โฉมเฉลา” เลยคิดว่าน่าจะลองนำรูปแบบในหนังสือมาใช้ดู ด้วยการทดลองชวนพรรคพวกในกลุ่มที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน”

จากนั้นก็ไปชวนพ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก และครูในศูนย์เด็กเล็กและชั้นอนุบาลในโรงเรียนที่สมัครใจเข้าร่วมงานด้วย ทำให้มีผู้ร่วมโครงการที่เป็นเด็กแรกเกิด-3 ปี จำนวน 92 คน นั่นหมายความว่าจะมีพ่อ-แม่หรือผู้ปกครองเข้ามาร่วมทีมอย่างน้อย 92 คนเช่นกัน

นอกจากมีเด็กแรกเกิดยังมีเด็กๆ อายุ 3-5 ปี อีก 288 คน (บวกผู้ปกครอง 288 คน) และทีมวิจัยอีก 24 คน สรุปคือ งานนี้ขนกันมาทั้งชุมชน

“มีคนถามว่าทำไมต้องมีเด็กแรกเกิดเข้ามาอยู่ในกระบวนการวิจัย เพราะมีการเชื่อกันว่า “เด็กเพิ่งเกิดมันไม่รู้เรื่องหรอก” “ทำไมไม่รอให้ครูสอนตอนเข้าโรงเรียน”….ประเด็นนี้สามารถอธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะนับเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่เส้นประสาทหลักๆ ซึ่งบ่งบอกสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด และจินตนาการสร้างสรรค์ของเด็กจะวางเครือข่ายสำเร็จภายในอายุเพียงหนึ่งขวบเท่านั้น และสมองจะเติบโตมากที่สุดช่วงในช่วงอายุระหว่าง 0-6 ปี ช่วงนี้จึงถือว่าเป็นเวลาทองหากเราจะพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้กับเด็ก” หัวหน้าโครงการวิจัยอธิบาย

และเมื่อได้ทีมวิจัย ได้ผู้ใหญ่มาเป็นคนอ่าน และได้ “เด็ก” เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ต้องทำอะไรนอกจาก “ฟัง” และ “จินตนาการ” ตามแต่ใจจะคิด แนวทางถัดมาคือทีมวิจัยได้ทำการสำรวจข้อมูลการอ่านหนังสือของกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการซึ่งก็ทำให้พบว่า มีบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่เล่านิทาน และหรืออ่านหนังสือให้เด็กฟังเพียง 16% เท่านั้น เมื่อไม่มีกิจกรรมอื่น เวลาของเด็กๆ จึงหมดไปกับการดูโทรทัศน์เฉลี่ย 2-3 ชั่วโมง/วัน

ผลการสำรวจ นอกจากจะทำให้พบว่า เวลาอันมีค่าถูกใช้ไปกับการดูทีวี ข้อค้นพบที่น่าขบคิดอีกประการหนึ่งคือ ในขณะที่เรามีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติกันในกรุงเทพมหานคร เรามีแผงและร้านขายหนังสือที่ตีพิมพ์แต่เรื่องราวที่ไม่ค่อยจะประเทืองสติปัญญาผู้คนเท่าไหร่นั้น แต่ชาวบ้าน และเด็กๆ ในชนบทห่างไกลเข้าไม่ถึงหนังสือ บางครอบครัวไม่มีแม้แต่ปฏิทิน หรือหนังสือพิมพ์เก่า ”ไม่มีที่ซื้อหนังสือสำหรับเด็ก และหนังสือดีๆ สำหรับเด็กมีราคาแพงมาก และร้านหนังสือประจำอำเภอไม่มีหนังสือสำหรับเด็กขาย มีแต่หนังสือพิมพ์และหนังสือจำพวกนิตยสาร ดาราภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนบางแห่งที่พอจะมีหนังสือสำหรับเด็กอยู่บ้างแต่ก็หวงกลัวหนังสือเก่า หรือชำรุด จึงเก็บไว้อย่างมิดชิด ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงหนังสือที่มีอยู่”

เมื่อเห็นปัญหา และรับทราบข้อจำกัด ต่อมาจึงเป็นขั้นตอน “ปฏิบัติการอ่านหนังสือ” โดยโครงการวิจัยมีหนังสือให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองไปอ่านให้เด็กๆ ฟังคนละ 2 เล่ม จะอ่านเวลาไหนก็ได้ เพียงวันละไม่กี่นาที จากนั้น 2-3 เดือน มหัศจรรย์แห่งการอ่านก็เกิดขึ้นหลายประการ

เกิดหนอนหนังสือตัวน้อย ทีมวิจัยที่ออกเก็บข้อมูลพัฒนาการหลังจากการอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟังเล่าว่า หนังสือเป็นแรงดึงดูดให้เด็กๆ เข้าหาอย่างรวดเร็ว จนแทบจะพูดได้เลยว่า “การอ่านเป็นธรรมชาติของเด็ก”

“เช่น น้องนริตา อยู่กับตายายและน้าสะใภ้ วันแรกที่ได้หนังสือไปก็จะอยู่กับหนังสือเกือบทั้งวัน ชนิดไปไหนก็เอาไปด้วย เพราะทั้งบ้านไม่มีหนังสือเลยสักเล่ม เมื่ออ่านให้ฟังเพียง 2-3 ครั้งก็จะจำได้ และบางครั้งก็ส่งเสียงอ่านตาม เพราะเป็นเด็กที่มีความจำดีมาก เช่นเดียวกับ สิริราช อายุ 1 ปี 1 เดือน ซึ่งเวลาไปเยี่ยม ตากับยายที่เลี้ยงก็บอกว่า “เขาชอบหนังสือเป็ด” วันหนึ่งเห็นเป็ดเดินผ่านก็ชี้แล้วร้องเสียงดัง เลียนแบบในหนังสือ

ขณะที่น้องวริศรา อายุ 1 ปี 1 เดือน ซึ่งปกติเป็นเด็กขี้แย เวลาร้องไห้ก็จะอ่านหนังสือให้ฟังก็หยุดร้อง เห็นของเล่นก็ไม่ชอบเท่าหนังสือ”

ความมหัศจรรย์แห่งการอ่านยังไม่หมดเท่านั้น…. คุณแม่ของน้องอายุ 3 เดือนคนหนึ่งสะท้อนว่า “แต่ก่อนคิดว่าเด็กเล็กไม่น่าจะฟังรู้เรื่อง แต่พอเริ่มอ่านหนังสือ เขาจะนั่งนิ่งเหมือนกำลังฟัง อารมณ์ดีและหลับง่ายเวลาอ่านหนังสือให้ฟัง” ซึ่งก็ตรงกับประสบการณ์ของคุณยายที่เลี้ยง น้องนภัสนันท์ วัย 7 เดือน บอกว่า “เวลาตื่นนอนก็จะอ่านให้ฟัง ให้ดูภาพไปด้วยจะคุยอ้อแอ้ตาม อารมณ์ดี จะอ่านและทำท่าทางประกอบตามหนังสือ อุ้มใส่ตักจับมือปรบมือจะชอบมาก”

จากประสบการณ์อันปลื้มปีติของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่นำเอา “การอ่าน” ไปปฏิบัติด้วยตนเองจนเห็นผล แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการช่วยสร้างพัฒนาการทางสมองแก่เด็กๆ ในวัยที่กำลังเจริญเติบโต สิ่งที่แอบซ่อนมาคือ “ความสัมพันธ์” ของเด็กๆ และผู้ใหญ่ และสำคัญกว่านั้นคือ เกิด สังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะบางพื้นที่แม้แต่เด็กที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายก็หันมาให้ความสนใจ เด็กเล็กๆ บางคนจะถือหนังสือ ก.ไก่ มาให้เด็กโตอ่านให้ฟังด้วย เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้เกิดขึ้นในชุมชน

“การอ่าน” -ยังแสดงพลังต่อไป เพราะเมื่ออ่านมาก เด็กๆ รับรู้มาก เกิดการคิดตาม พัฒนาการของเด็กทำให้ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านหลายคนรู้สึกเสียดาย ที่ปล่อยให้เด็กๆ โตมาโดยที่ไม่มีโอกาสได้พัฒนาการเรียนรู้ให้แก่บุตรหลานของตัวเอง เช่นคุณตาวัย 70 ปีบอกว่า “เสียดาย…ไม่รู้มาก่อนว่าหนังสือจะช่วยทำให้เด็กฉลาดได้ขนาดนี้ ถ้ารู้อย่างนี้แต่แรกจะเลี้ยงลูกไม่ให้โง่ นี่เราปล่อยให้ลูกโตจน 7 ปี ถึงเอาไปเข้าโรงเรียน ไม่มีโอกาสแม้แต่จะสัมผัสหนังสือก่อนเข้าโรงเรียน ไม่มีโอกาสอ่านหนังสือให้ลูกฟัง”

เห็นพลังของการอ่านมากขนาดนี้ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหันมาให้ความสำคัญกับการ “อ่านหนังสือให้เด็กฟัง”

ข้อมูลจาก : ฝ่ายงานสื่อสารสังคม (สกว.)
ที่มา : http://www.bookandreading.com/bookreaerch/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น