วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

การอ่าน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์








ใครๆ ก็รู้ว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพบใน พ.ศ.2544 ว่า โดยเฉลี่ยทั้งประเทศแล้ว คนไทยอ่านหนังสือกันแค่วันละ 2.99 นาทีเท่านั้น (คงหมายความว่าเอานาทีมาแบ่งออกเป็นร้อยส่วน ไม่ใช่ 60 ส่วน ทำไมต้องทำอย่างนั้น ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน)

แม้ว่าตัวเลขนี้ดูอัปลักษณ์อย่างไรก็ตาม ประเทศเพื่อนบ้านเราโดยส่วนใหญ่ก็มีสถิติไม่งดงามไปกว่าเราเท่าไรนัก ยกเว้นสิงคโปร์

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะคนไทยอ่านหนังสือไม่ออกนะครับ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน เด็กไทยใช้เวลาในโรงเรียนมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยส่วนใหญ่ จะแพ้ก็แต่เด็กฟิลิปปินส์เท่านั้น

เช่นเดียวกับอัตราการรู้หนังสือของไทย (ในปี 2543) ก็สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งหมด ยกเว้นแต่ฟิลิปปินส์เท่านั้นเหมือนกัน (รู้หนังสือแปลว่าอ่านและเขียนข้อความง่ายๆ ได้-แน่นอนว่าความสามารถเพียงเท่านี้ยังไม่อำนวยความเพลิดเพลินในการอ่านได้)ผมคิดว่าที่คนไทยอ่านหนังสือน้อยนั้น มีสาเหตุมาจากสองปัจจัย ที่เชื่อมโยงกันและกันอยู่ด้วย และสองสาเหตุนี้หาได้เกี่ยวกับการใช้เวลาในโรงเรียนมากหรือน้อย (เช่น เด็กสิงคโปร์ใช้เวลาในโรงเรียนโดยเฉลี่ยน้อยกว่าเรา แต่อ่านหนังสือมากกว่าเรา) และหาได้เกี่ยวกับความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ (แน่นอนว่าจะอ่านหนังสือ ก็ต้องอ่านออกเสียก่อน แต่อ่านออกอย่างเดียวไม่พอ)


มีเงื่อนไขอื่นๆ ที่สำคัญไม่น้อยกว่าการศึกษา (ในแบบ) ที่ทำให้คนอ่านหนังสือ และเงื่อนไขอื่นๆ ที่ว่านั้นในเมืองไทยไม่มีหรือมีน้อย นั่นก็คือเงื่อนไขทางวัฒนธรรม และเงื่อนไขทางสังคม

ผมขอพูดถึงเงื่อนไขทางวัฒนธรรมก่อน เพราะเรามักลืมไปเวลาพูดถึงการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน

การรับรู้ข่าวสารข้อมูลผ่านการอ่านนั้นเป็นวัฒนธรรม ที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลกไม่นานมานี้เอง แม้ชาติต่างๆ จะคุยโตโอ้อวดว่าตัวมีหนังสือใช้กันมากี่ร้อยกี่พันปีแล้วก็ตาม จนถึงประมาณรัชกาลที่ 5 นี้เอง ที่เพิ่งจะมีวรรณกรรมไทยที่เขียนขึ้นเพื่อการอ่าน ก่อนหน้านั้น เขาสร้างวรรณกรรมเพื่อการฟังหรือการชม (การแสดง) ทั้งนั้น

เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะว่า ตราบเท่าที่ยังไม่มีการพิมพ์ ที่ทำให้สามารถผลิตเอกสารสำหรับอ่านได้ในราคาถูก การอ่านหนังสือก็เป็นสมบัติของอภิสิทธิ์ชนจำนวนน้อยเท่านั้น คนเหล่านี้อาจเป็นเจ้านายหรือเป็นนักบวชและปัญญาชนซึ่งฝากตัวอยู่กับเจ้านายหรือศาสนา

ที่เหลือถึงอ่านออกบ้าง ก็ไม่ได้มีโอกาสอ่าน และทำให้การอ่านไม่เป็นทางผ่านของข่าวสารข้อมูลมากนัก นอกจากประกาศของทางการซึ่งนานๆ ครั้งถึงจะมีติดไว้ให้อ่าน

ถึงในยุโรปก่อนหน้าจะมีการพิมพ์ก็ไม่ต่างอะไรกันนัก คือคนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านหนังสือ แม้ว่าจำนวนของคนที่ผมเรียกว่าอภิสิทธิ์ชนของเขามีมากกว่าของเรา จนพอจะเลี้ยงงานเขียนเพื่อการอ่านได้มากกว่าเรา แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อ่านหนังสือหรอกครับ

ถ้าจะฝึกนิสัยรักการอ่าน สำนึกข้อนี้สำคัญนะครับ เพราะเราควรรู้ว่าเรากำลังปลูกฝังนิสัยที่ไม่เคยมีในวัฒนธรรมไทยมาก่อน จะทำได้สำเร็จ ต้องมีเงื่อนไขอื่นๆ ช่วยกระตุ้นและโน้มน้าวอีกมาก ซึ่งผมรวมเรียกว่าเงื่อนไขทางสังคม


ผมยังอยากจะย้ำเตือนอีกอย่างหนึ่งในแง่วัฒนธรรมด้วยว่า พวกเราที่คุ้นเคยกับการรับสารผ่านการอ่าน อาจไม่รู้สึกว่า การรับสารผ่านการฟังกับการอ่านนั้นต่างกัน ไม่ใช่ต่างในแง่ของสำนวนและถ้อยคำและอารมณ์ซึ่งสื่อผ่านเสียงเท่านั้น แต่ต่างในด้านการใช้สมาธิเพื่อการรับสารก็ต่างกันด้วย

แม้เป็นการสื่อสารด้วยภาษาเหมือนกัน แต่ผมออกจะสงสัยว่าใช้สมองคนละส่วนกันทีเดียว แต่นี่ก็เดาส่งนะครับเพราะผมไม่ทราบว่าผลการศึกษาสมองเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว

การอ่านถึงได้เหนื่อยแก่คนที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการรับสารผ่านการอ่านไงครับ สมองรับสารไปย่อย บางส่วนก็ส่งไปให้หัวใจระทึกหรืออาดูร ท่ามกลางความเงียบ ไม่มีศัพท์สำเนียงใดๆ ให้ได้ยินเลย

ในฐานะคนเขียนหนังสือ ผมยังสงสัยเลยไปด้วยว่า แม้แต่สารที่จะสื่อให้คนอื่นผ่านการอ่าน ยังไม่เหมือนกับการฟังด้วยซ้ำ งานเขียนมันมีกรอบบางอย่างนอกจากภาษาที่บังคับตัวสารในการสื่อ และเจ้ากรอบที่ว่านี้ก็เป็นสารอย่างหนึ่งที่คนอ่านหนังสือต้องจับให้ได้ด้วย

ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ แค่เรื่องวรรคตอนกับย่อหน้า ซึ่งคนที่ไม่อยู่ในวัฒนธรรมการอ่าน อาจจับความหมายของมันไม่ได้ เพราะมันทั้งเหมือนและไม่เหมือนการหยุดพูด

ผมขอออกนอกเรื่องตรงนี้นิดหนึ่ง เราชอบให้นักเรียนอ่านทำนองเสนาะ ที่จริงแล้วทำนองเสนาะคือการรับสารที่เป็นงานเขียนโดยผ่านการฟัง นอกจาก "ทำนอง" และความชัดถ้อยชัดคำแล้ว ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คืออารมณ์ เจื้อยแจ้วไปโดยไม่ทำให้เกิดอารมณ์ ถึงจะ "เสนาะ" อย่างไรก็ไม่ใช่การอ่านทำนองเสนาะ


และเพราะเรามีงานเขียนที่ไม่ได้มีไว้ให้ฟังมากขึ้น นอกจากทำนองเสนาะแล้ว ยังมีการอ่านที่ไม่ต้องมี "ทำนอง" อีกมาก ที่ "กวี" ชอบตะโกนใส่ไมค์นั่นก็อย่างหนึ่ง ทำกันจนเป็นแฟชั่นไปแล้ว แต่การอ่านนวนิยาย, เรื่องสั้น, ฯลฯ อย่างมีศิลปะก็ยังมีอีกนะครับ อ่านเพื่อนำเอาสาร (ซึ่งเป็นทั้งเรื่องราว, ความคิดและอารมณ์ความรู้สึก) ซึ่งเป็นทั้งตัวหนังสือและไม่เป็นตัวหนังสือไปถึงผู้ฟังให้ได้น่ะครับ

อย่าให้การอ่าน (ออกเสียง) มาสิ้นสุดลงแค่ชัดถ้อยชัดคำเลยครับ มีอะไรมากกว่านั้นอีกมากที่เราควรสนใจ
คราวนี้ผมขอพูดถึง เงื่อนไขทางสังคม ซึ่งหากเราเข้าใจตรงนี้ให้ดีแล้ว ก็เป็นไปได้ที่เราจะแหกออกไปจากวัฒน-ธรรมไทยซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมการอ่าน

การทำให้เกิด "โอกาส" ที่จะได้อ่านนั้น สำคัญแน่ ความพยายามของภาครัฐที่จะส่งเสริมให้มีที่อ่านหนังสือและห้องสมุดก็ทำกันมานาน แต่ที่อ่านหนังสือโดยเฉพาะที่เรียกว่าห้องสมุดนั้น ไม่ใช่ที่เก็บหนังสือนะครับ แต่เป็นศูนย์กลางที่จะทำให้คนมาทำอะไรอื่นๆ ซึ่งผูกโยงเข้าไปกับการอ่านด้วย

ห้องสมุดต้องมีกิจกรรมครับ ไม่ใช่กิจกรรมการอ่านโดยตรงก็ได้นะครับ แต่ต้องใช้ความแยบคายในการจัด แฝงการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มขึ้นในกิจกรรมสนุกๆ ให้ผู้เข้าร่วมหันเข้าหาความรู้หรือความเพลิดเพลินจากการอ่าน

สำนักงานสถิติแห่งชาติไปถามชาวบ้านว่า ทำอย่างไรดีถึงจะให้คนชอบอ่านหนังสือมากขึ้น คำตอบแรกที่ได้คะแนนสูงสุดคือทำหนังสือให้ถูกลง หนังสือนั้นเป็นสินค้าประหลาดอีกอย่างหนึ่ง คือ economy of scale หรือปริมาณการผลิตที่สูงขึ้นไม่ทำให้ราคาต่ำลงเท่าไรนัก

แต่หนังสือจะถูกลงมากหากมีห้องสมุดมากๆ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ยืมหนังสือจากห้องสมุดย่อมถูกกว่าไปซื้อหามาอ่านคนเดียว จนกระทั่งราคาไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไร หนังสือเล่มละพันบาท อ่าน 20 คนเหลือเล่มละ 50 บาทเท่านั้น

ปัญหาจริงๆ ของเราจึงอยู่ที่เรามีห้องสมุดน้อยเกินไป ซ้ำที่มีน้อยก็ยังซังกะตายทำไปโดยไม่หาทางที่จะเพิ่มลูกค้าให้มากขึ้นเสียอีก

ผมก็ไม่ทราบว่า เมื่อประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติไปแล้วนี้ เขาเพิ่มงบประมาณห้องสมุดและการฝึกบรรณารักษ์ให้เลิกตายด้านมากน้อยแค่ไหน

แน่นอนว่านิสัยรักการอ่านนั้น หากปลูกฝังมาแต่เด็กในโรงเรียนได้ก็น่าจะอยู่ยั่งยืนต่อไป โรงเรียนและบ้านเป็นผู้ผลิตนักอ่านที่สำคัญที่สุดในโลกปัจจุบัน

แต่การอ่านเป็นสิ่งแปลกปลอมในระบบการสอนของโรงเรียน (ไล่ไปจนถึงมหาวิทยาลัย) นะครับ คืออ่านไปทำไมก็ไม่รู้ เพราะครูไม่ได้อยากให้นักเรียนรู้อะไรมากไปกว่าที่ท่านรู้ การอ่านตำรานั้นช่วยเพิ่มมิติและมุมมองอันหลากหลายให้แก่ประเด็นวิชาการ แต่การศึกษาไทยไม่ต้องการคำตอบที่หลากหลายมิติและมุมมอง ต้องการแต่ที่เชื่อว่า "ถูก" อันเดียว เหมือนข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยแหละครับ คือรู้ว่าอันไหนถูกก็เลือกกามา อย่าคิดมาก เพราะจะทำให้เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้

ตราบเท่าที่การศึกษาไทยเป็นอย่างนี้ ผมก็เชื่อว่าอย่างไรเสียคนไทยก็คงไม่รักการอ่านอยู่ตราบนั้น

อันที่จริงผมควรกล่าวด้วยว่า ในสมัยโบราณของทุกสังคมนั้น รัฐอาจควบคุมข่าวสารข้อมูลทุกด้านไม่ได้ เช่น คุมข่าวลือไม่ได้ คุมคำซุบซิบนินทาไม่ได้ คุมตลกไม่ได้ แต่ข่าวสารข้อมูลอย่างเดียวที่รัฐคุมได้แน่นปั๋งเลย คือข่าวสารข้อมูลผ่านการอ่าน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านอะไรนอกจากที่รัฐหรือศาสนาให้อ่าน

หลังยุคของการพิมพ์แล้ว อำนาจควบคุมอันนี้ของรัฐหายวับไปกับตา ยิ่งกว่านี้คนอ่านหนังสือยังอ่านเงียบๆ อยู่คนเดียว คิดอะไรก็ไม่รู้ น่ากลัวกว่าการฮาแก่ตลกหนังตะลุงเป็นอันมาก

ทั้งนี้ ย่อมทำความตระหนกแก่รัฐอย่างมาก และนี่คือที่มาของการเผาหนังสือ, แบนหนังสือ, หรือจับคนเขียนเข้าคุก ซึ่งยังทำสืบมาในเมืองไทยถึงทุกวันนี้

การอ่านเปิดเสรีภาพที่ควบคุมยากมาก แม้แต่กฎหมายเซนเซอร์ที่เข้มงวดยังคุมไม่อยู่ บางคนบอกว่าหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ของไทยนี่แหละครับ ที่มีส่วนอย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดการปฏิวัติของนักศึกษาประชาชนในปี 1988 ในพม่า

ด้วยเหตุดังนั้น หากรัฐไทยอยากให้คนไทยรักการอ่าน ผมคิดว่าต้องถามตัวเองให้ดีเสียก่อนว่า ไม่รังเกียจเสรีภาพที่ตามมากับการอ่านด้วยนะครับ

* เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1517 ประจำวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552
ที่มา : http://stang.sc.mahidol.ac.th/bookfair/Article002.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น