วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

บรรณารักษ์ “ดี” บริการ “ดี” ...สุดยอด!!!

การสร้างสังคมไทยสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้นั้น นอกจากจำเป็นต้องมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในระบบให้มีความเข้มแข็งแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัยให้มีคุณภาพ ตลอดจนมีการส่งเสริมด้านการอ่านให้แก่คนไทย เพื่อผลักดัน “ให้คนไทยรู้จักการเรียนรู้ตลอดชีวิต” โดยเฉพาะการส่งเสริมการอ่านนั้น ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้คนไทยทุกคนทั้งที่อยู่ในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา สามารถค้นคว้าหาความรู้และเข้าถึงความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาจากสื่อหลากหลายในยุคโลกาภิวัตน์ อย่างไรก็ตามหากมีการผลักดันให้คนไทยอยากอ่านได้สำเร็จ แต่หากขาด “แหล่งการเรียนรู้” หรือ “ห้องสมุด” ที่เอื้ออำนวยและเป็นปัจจัยส่งเสริมแล้ว การสร้างให้คนไทยเกิดอุปนิสัยรักการอ่าน ก็คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก...แสนยาก..!!

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้ริเริ่มนโยบายห้องสมุด 3 ดี และได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงห้องสมุดประชาชนและห้องสมุดในสถานศึกษาต่าง ๆ ให้เป็นห้องสมุดที่มี “หนังสือดี บรรยากาศดี และบรรณารักษ์ดี” ครบครัน

เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของห้องสมุด 3ดี แล้ว คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “บรรณารักษ์ดี” นับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากบรรณารักษ์เป็นองค์ประกอบเพียงอย่างเดียวที่มีชีวิต และสามารถพัฒนาสมรรถภาพให้สูงขึ้นได้ นอกจากนั้นบรรณารักษ์ยังสามารถกำกับดูแล อีก 2 ดี ที่เหลือได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถเพิ่ม “ดี4 หรือการบริหารจัดการดี” (Good Management)ให้แก่ห้องสมุดได้ ดังนั้นหากมี “บรรณารักษ์ดี” แล้ว อย่างว่าแต่พัฒนา “ห้องสมุด 3 ดี” ต่อให้เป็น“ห้องสมุด 10 ดี” ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก..!!

แม้ว่าการพัฒนาสมรรถนะ (Competency) ของบรรณารักษ์ จะเป็นแนวทางแห่งการพัฒนาแบบยั่งยืน แต่การพัฒนาจนให้ได้มาซึ่ง “บรรณารักษ์ที่ครบเครื่อง” นั้น จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝน และเรียนรู้ ซึ่งจากการศึกษาหลักสูตรด้านบรรณารักษ์ทั้งของไทยและเทศแล้ว ทำให้สามารถสรุปวิชาหลัก ๆ ที่ต้องศึกษา ได้แก่ การวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ โดยวิชานี้นอกจากจะเน้นให้รู้จักถึงระบบสืบค้นพื้นฐาน และความรู้ทักษะพื้นฐานการใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว ยังเน้นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และการพัฒนากลยุทธ์การแก้ไขด้านเทคโนโลยีใหม่

การบริการสารสนเทศ นอกจากวิชานี้สอนให้มีจิตบริการ (Service Mind) และรู้จักวิธีการบริการ ยังเน้นการสอนให้บรรณารักษ์เกิดการสร้างแนวคิดใหม่ที่จะนำการกำหนดแนวทางในการบริการในรูปต่าง ๆ ของห้องสมุดอีกด้วย ซึ่งเป้าประสงค์หลักของทั้งสองวิชา ก็คือ การทำให้ได้มาซึ่ง บรรณรักษ์ที่ “รู้ดี” และ “บริการดี”...
ยุคการจัดการความรู้ทุกอย่างต้องดำเนินการอย่างกระชับ ฉับไว แม่นยำ ถูกต้อง และรวดเร็ว ห้องสมุดในฐานะที่เป็นองค์กรระบบเปิดที่มีชีวิต จึงต้องขานรับการเปลี่ยนแปลง โดยการปรับเปลี่ยนสถานะและบทบาทของตนเองเสียใหม่ เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนต่อไปทั้งในวันนี้และอนาคต…เพราะอย่างน้อยหาก “ห้องสมุดอยู่รอด และบรรณารักษ์มัดใจนักอ่านได้” การส่งเสริมการอ่านและการศึกษานอกระบบไทย ก็จะมี “กำลังหนุน” ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อย...

“ภาระที่หนักอึ้ง” ก็คงต้องหวังพึ่ง “บรรณารักษ์และชาวห้องสมุดทุกท่าน” และเชื่อว่าทุกท่านต่างรู้สึกยินดีที่จะทำอยู่แล้ว...จริงไหม..!?

ที่มา : http://www.siamrath.co.th/uifont/Articledetail.aspx?nid=4520&acid=4520

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น