วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

ห้องสมุดไทยไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน


ที่โรงแรมเอเชีย วันที่ (4 ก.ค.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เสนอผลการวิจัย เรื่อง การประเมินผลการดำเนินการงานห้องสมุดประชาชนในประเทศไทย ซึ่งการวิจัยนี้ใช้วิธีส่งแบบสอบถามเก็บข้อมูลจากบรรณารักษ์หรือผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด ประชาชนทุกประเภท ได้แก่ ห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ห้องสมุดประชาชนจังหวัด ห้องสมุดประขาชนอำเภอ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน และห้องสมุดประชาชน ตำบล ห้องสมุดประชาชนเทศบาล สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และห้องสมุดประชาชน กทม. รวมทั้งสิ้น 244 แห่ง ขณะเดียวกันยังได้เก็บข้อมูลจากประชาชน ที่มาใช้บริการห้องสมุดฯ จำนวน 7,260 ราย รศ.ดร.ชุติมา สัจจานันท์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มสธ.หัวหน้าคณะผู้ทำวิจัย กล่าวว่า ผลการวิจัยพบว่า ห้องสมุดประชาชนส่วนใหญ่มีผลการดำเนินการงานไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรฐานของคณะวิจัย ต้นตอเกิดจากขาดการสนับสนุนงบประมาณ ห้องสมุดเกือบครึ่ง หรือร้อยละ 43.9 ได้รับงบในรอบปีต่ำกว่า 50,000 บาท หากนำมาเฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวผู้ใช้บริการแล้ว ห้องสมุด ร้อยละ 34.8 ได้ค่าหัวไม่เกิน 10 บาท ซึ่งถือว่าต่ำมาก อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ห้องสมุดตกเกณฑ์มาตรฐาน คือ เรื่องการประชาสัมพันธ์ พบว่า ห้องสมุดส่วนใหญ่ยังอ่อนประชาสัมพันธ์ ไม่สามารถสื่อสารให้ผู้ใช้บริการรับรู้ได้ว่ามีอะไรให้บริการบ้างในห้องสมุดของตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับแบบสอบถามที่เก็บจากผู้ใช้บริการที่พบว่า ประชาชนผู้ใช้บริการยังไม่ค่อยรับรู้ด้านการบริการ นอกจากนี้ ห้องสมุดยังมีปัญหาด้านบุคลากร ส่วนใหญ่มีบรรณารักษ์ประจำ 1-2 คน และเจ้าหน้าที่ดูแลความสะอาดและให้บริการ 1 คน อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยพบว่าห้องสมุดร้อยละ 48.4 ไม่มีเจ้าหน้าที่ห้องสมุดช่วยงานบรรณารักษ์ ร้อยละ 96.4 ไม่มีพนักงานธุรการ และร้อยละ 56.1 ไม่มีภารโรง หากห้องสมุดมีผู้มาใช้บริการจำนวนมากหรือเปิดทุกวันแล้ว บุคลากรที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการ นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า บรรณารักษ์ และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดปฏิบัติงานด้านการบริหารและงานเทคนิคในระดับมาก ขณะที่ปฏิบัติงานบริการอยู่ในระดับน้อย ส่วนที่ห้องสมุดทำได้ดี คือ เรื่องการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการและการบริการ ทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดมีความหลากหลายตรงกับความต้องการของห้องสมุด เมื่อถามถึงความพึ่งพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่า ประชาชนพอใจการบริการห้องสมุดประชาชนในระดับกลาง โดยห้องสมุดประชาชนจังหวัดมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจสูงสุด รองลงมาเป็นห้องสมุดของ กทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ห้องสมุดประชาชนอำเภอ ห้องสมุดตำบล และห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่จะพอใจเรื่องของการจัดชั้นหนังสือ การบริหารที่รวดเร็ว เหตุผลที่จะทำให้ประชาชนมาใช้ห้องสมุด ก็คือ ที่ตั้งห้องสมุดต้องอยู่ใกล้ เดินทางสะดวก ด้วยเหตุนี้การเลือกทำเลสร้างห้องสมุดจึงมีความสำคัญ ถ้าไปตั้งอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสม ประชาชนก็ไม่ไปใช้บริการ นายปรเมศวร์ สุขมาก ผอ.ศูนย์ส่งเสริมการศึกษา ตามอัธยาศัย กศน.บอกว่าห้องสมุดประชาชนของ กศน.ได้รับงบน้อย เพิ่งได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเมื่อปี 2548 ส่งผลให้คุณภาพห้องสมุด ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ห้องสมุดของ กศน. 8-9 แห่ง ได้รับรางวัลห้องสมุดต้นแบบจาก สกศ. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากร และบุคคลากรที่มีอยู่ก็มีขาดศักยภาพในการปฏิบัติงาน หากสามารถพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ห้องสมุดแล้ว ห้องสมุดแม่สะเรียงที่มีเจ้าหน้าที่น้อยแต่สามารถได้รับรางวัลจาก TK Park ได้
“ห้องสมุดบางแห่งมีประชาชนมาใช้บริการวันละ 10 คน ดังนั้น ควรมีการประชาสัมพันธ์ คือหาจุดขายให้ได้ว่าห้องสมุดมีอะไรดี นอกจากนี้ ควรจัดกิจกรรมรักการอ่านด้วย” นายปรเมศวร์ ระบุอีกว่า นโยบายรัฐบาลต้องชัดเจนว่า ห้องสมุดจะอยู่อย่างไร อยู่กับใคร กศน. หรือโอนให้ท้องถิ่น ขณะที่ นายประวิทย์ วีระสัตยานันท์ ประธานคณะทำงานห้องสมุดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต แสดงความเห็นว่า ควรจะมีเมกกะโปรเจคหนุนการพัฒนา ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ หากรัฐบาลยังทุ่มงบไปกับโครงการเชิงวัตถุ เช่น รถไฟฟ้า โดยไม่สนใจการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้แล้ว ประเทศชาติอาจล่มจม อย่างไรก็ตาม อบจ.ภูเก็ตได้รับโอนห้องสมุดประชาชนของ กศน.มาแล้ว และมีงบประมาณพร้อมสนับสนุนอย่างมาก เฉพาะงบซื้อหนังสือปีละ 1 ล้านบาท แต่ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเนื่องจากไม่มีประสบการณ์บริหารห้องสมุดมาก่อน
ที่มา : http://dek-d.com/content/print.php?id=2996

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น