วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

บ่มเพาะนักอ่านตัวน้อยที่ห้องสมุด




เมื่อตอนที่ย้ายมาสหรัฐอเมริกาใหม่ๆ และยังไม่มีลูก ห้องสมุดประชาชน หรือ Public Library เป็นสถานที่โปรดที่ฉันชอบแวะเวียนไปเป็นประจำ จนทำให้มีความใฝ่ฝันอยากเข้าทำงานในห้องสมุด ซึ่งก็ได้ทำสมใจโดยเริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานเก็บหนังสือในห้องสมุด และต่อเติมความฝันของตัวเองด้วยการร่ำเรียนต่อสาขาบรรณารักษ์ศาสตร์ จนมีโอกาสได้ทำงานในตำแหน่งบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนอยู่ระยะหนึ่ง เรียกได้ว่าชีวิตของฉันในสหรัฐอเมริกาผูกพันกับห้องสมุดมาก และฉันต้องการส่งผ่านความผูกพัน และความประทับใจนี้ให้แก่ลูก รวมทั้งปลูกฝังให้ลูกชายได้รู้จักรักการอ่าน และชอบหนังสือ

เริ่มต้นบ่มเพาะนักอ่าน
ฉันเริ่มต้นแนะนำหนังสือให้แก่ลูกตั้งแต่ที่บ้าน นอกจากการอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่แบเบาะแล้ว ฉันยังหาของเล่นให้ลูกที่ทำในรูปแบบของหนังสือ เมื่อลูกเริ่มใช้มือหยิบจับอะไรได้บ้าง ฉันซื้อหนังสือที่ทำด้วยผ้า ที่มุมมียางสำหรับกัด หรือที่เรียกว่า teether book ให้ลูกเล่น ได้คุ้นเคยกับหนังสือ พอโตขึ้นมาอีกนิด ก็ซื้อหนังสือโฟม มีรูปสัตว์ที่แกะออกจากหนังสือได้ แล้วก็มาเป็นหนังสือลอยน้ำที่ทำด้วยไวนิล ทั้งหมดนี้ดูเป็นของเล่นมากกว่าที่จะเป็นหนังสืออ่านจริงจัง แต่ก็ช่วยให้ลูกฉันคุ้นเคยกับหนังสือ ได้สนุกกับการเปิด ปิด เปิด ปิด หนังสือเล่น และคำว่า Book ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคำแรกที่น้องธีร์ ลูกชายของฉันพูดได้

คืนไหนที่ฉันพาลูกเข้านอนเอง ฉันมักจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอนเสมอ อ่านทั้งหนังสือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ลูกฟังบ้างไม่ฟ้งบ้างก็ไม่เป็นไร ถือว่าให้ผ่านเข้าหูก็ยังดี ซึ่งฉันก็เพิ่งพบไม่นานนี้เองว่า ความพยายามของฉันก็ได้ผลเหมือนกัน เมื่อเช้ามืดวันหนึ่งลูกตื่นมา แล้วหยิบหนังสือมาเปิดๆ นอนดูเล่น แล้วพูดบางคำที่อยู่ในหนังสือเล่มนั้น แสดงว่าแม้ท่าทางเหมือนจะไม่ได้ใส่ใจ แต่ลูกก็จำสิ่งที่ฉันอ่านให้ฟังได้ แค่นี้แม่ก็ชื่นใจ นอนฟังลูกไปยิ้มไป

พาลูกเข้าห้องสมุด


เริ่มคุ้นกับหนังสือที่บ้านแล้ว พอลูกเริ่มเข้าวัยเตาะแตะ ฉันก็มักจะกระเตงลูกไปห้องสมุดด้วยกันทุกครั้ง ที่ไปเลือกหาหนังสือมาอ่านทั้งสำหรับลูก และสำหรับตัวเอง

ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบการบริการห้องสมุดที่ดี ห้องสมุดประชาชนมีให้บริการอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ไม่ว่าฉันจะย้ายไปอยู่ที่ไหน เมืองใด เล็ก หรือใหญ่ ทุกที่ที่ไปอยู่ ล้วนมีห้องสมุดบริการทั้งนั้น คุณภาพ และขอบเขตการบริการอาจมากน้อยลดหลั่นกันไปบ้างตามขนาดและงบประมาณของเมืองนั้น ก็ยังดีกว่าไม่มีเสียเลย

ห้องสมุดประชาชนในสหรัฐอเมริกาเปิดให้บริการต่อประชาชนที่มีถิ่นฐานที่อยู่ในเมือง โดยจะให้บริการยืมหนังสือทั้งสารคดี บันเทิงคดีทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ตลอดจนสื่อในรูปแบบอื่น เช่น วีดีโอ ดีวีดี ซีดี ซีดีรอม มีคอมพิวเตอร์ให้บริการพร้อมอินเตอร์เน็ต ซึ่งทั้งหมดนี้สมาชิกห้องสมุดสามารถใช้บริการได้ฟรีค่ะ นอกจากนี้ที่ห้องสมุดยังมีบรรณารักษ์ผู้มีความรู้ คอยให้บริการตอบคำถาม ไขกุญแจไปสู่ข้อมูลทุกแขนงที่เราต้องการค้นคว้า

สิ่งที่ฉันชอบและประทับใจมากคือ ห้องสมุดประชาชนทุกที่จะให้ความสำคัญกับการบริการแก่เยาวชน มีมุมที่จัดไว้สำหรับเด็ก ซึ่งมักจะตกแต่งด้วยสิ่งละอันพันละน้อย ดูน่ารัก และน่านั่งเล่น ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้นวมนุ่ม โต๊ะเก้าอี้ขนาดเล็กหลากสีสัน ตุ๊กตาขนฟูนุ่มนิ่ม คอมพิวเตอร์ซึ่งมีโปรแกรมเกมส์เพื่อการศึกษาสำหรับเด็กๆ มีตัวต่อ จิ๊กซอ ของเล่นเล็กๆ น้อยๆ ให้เด็กได้เพลิดเพลิน นอกจากการไปนั่งอ่านหนังสือ ซึ่งบรรยากาศที่ดีแบบนี้ ภาพของพ่อแม่เด็กที่นั่งอ่านหนังสือให้ลูกตัวน้อยฟังในห้องสมุด จึงเป็นภาพที่เห็นกันอย่างคุ้นตา ตรงนี้ทำให้ลูกเห็นคนอื่นอ่านหนังสือ ช่วยให้เรียนรู้เกี่ยวกับอ่านหนังสืออีกทางหนึ่ง นอกจากจะเห็นจากแม่ และฟังแม่อ่าน

เวลาพาลูกชายไปห้องสมุด ฉันมักจะปล่อยให้ลูกได้เดินเล่นหยิบหนังสือออกมาดู ปีนป่ายโต๊ะบ้าง นั่งเล่นกับตุ๊กตาบ้าง เพื่อให้ลูกรู้สึกเพลิดเพลินที่จะอยู่ในห้องสมุด แต่ทั้งหมดนี้ก็อยู่ในความควบคุมนะคะ ไม่อย่างนั้นอาจจะโดนบรรณารักษ์เอ็ดเอาได้ หากปล่อยให้ลูกรื้อหนังสือออกจากชั้นมาเล่นเสียวุ่นวาย ระหว่างปล่อยลูกได้เล่นเพลิน ก็เลือกหนังสือไปพลาง หนังสือมีให้เลือกมากมาย ยืมไปอ่านได้ฟรี สมัครสมาชิกก็ฟรีทำให้มีโอกาสได้อ่านหนังสือดีหลายเล่ม และช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้เยอะทีเดียวค่ะ

ไปฟังนิทานที่ห้องสมุด
กิจกรรมหลักสำหรับเด็กที่ขาดไม่ได้ของห้องสมุดประชาชนคือ การเล่านิทาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่บรรณารักษ์แผนกเยาวชนกำหนดวันเล่านิทาน แบ่งวัน-เวลา ตามอายุของเด็ก มีตั้งแต่ Lapsit Storytime สำหรับเด็กตั้งแต่ 6 เดือน – 18 เดือน Toddler Storytime สำหรับเด็กวัย 18 เดือน – 3 ปี Preschool Storytime สำหรับเด็กวัย 3-5 ปี School-Age สำหรับวัยเข้าโรงเรียน ตลอดจนถึงโปรแกรมสำหรับเด็กวัยรุ่น

เมืองซาคราเมนโต้ ที่ฉันอยู่เป็นเมืองใหญ่พอสมควร มีห้องสมุดที่อยู่ในระบบทั้งหมด 27 สาขา แต่ละห้องสมุดก็จะมีการจัดโปรแกรมสำหรับเด็กตามวันต่างๆ กันไป ห้องสมุดใกล้บ้านที่ฉันใช้บริการมีกิจกรรมการเล่านิทานสำหรับเด็กวัยน้องธีร์ ทุกวันพุธ เวลา 10 โมงเช้า วันแรกที่พาไปน้องธีร์ก็ดูสนุกสนานกับกิจกรรมพอควร ลูกชอบเวลาได้ร้องเพลง If you are happy หรือเพลงหากว่าเรากำลังสบาย จงปรบมือพลันนั่นละค่ะ

การเล่านิทานนั้น บรรณารักษ์แผนกเยาวชนจะเลือกหนังสือมาอ่านให้เด็กๆ ฟัง เรื่องที่เลือกมาอาจจะเป็นไปตามเทศกาล หรือฤดูกาลในช่วงนั้น อย่างเช่นช่วงที่เข้าสู่ฤดูหนาว บรรณารักษ์ก็เลือกหนังสือที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหิมะตก มีตุ๊กตาหิมะ และก็จะนำหนังสือที่มีเรื่องราวคล้ายๆ กัน มาแนะนำให้พ่อแม่ได้เลือกยืมไปอ่านให้ลูกฟังที่บ้าน หลังจากฟังเรื่องราวในหนังสือจบ บรรณารักษ์ก็มีกิจกรรมให้เด็กวาดรูปเล่นบ้าง หรือทำสิ่งประดิษฐ์เล็กๆ น้อยที่เข้ากับเนื้อหาที่เล่าในวันนั้น วันที่บรรณารักษ์เล่าเรื่องเกี่ยวกับฤดูหนาว น้องธีร์ก็ได้ทำโปสการ์ด และระบายสีรูปตุ๊กตาหิมะ โดยความควบคุมและช่วยเหลือของแม่นะคะ (ฮา)

นอกจากฟังนิทาน และวาดรูปทำสิ่งประดิษฐ์แล้ว บรรณารักษ์ก็จะทำกิจกรรมร้องเพลง สำหรับเด็กๆ ส่วนใหญ่เป็นNursery Rhymes ซึ่งตรงนี้แม่ชอบ และพลอยได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะแม่เป็นคนไทยไม่ค่อยรู้จักเพลงฝรั่งสำหรับเด็กมากนัก จึงมีโอกาสได้รู้จักทำนองมาร้องให้ลูกฟังที่บ้าน

กิจกรรมอื่นที่น่าสนใจสำหรับเด็กๆ
ในฐานะที่ทำงานห้องสมุดจึงอยากจะนำประสบการณ์มาบอกเล่าเพิ่มเติม เกี่ยวกับกิจกรรมอื่นๆ ที่ห้องสมุดจัดให้สำหรับเด็กๆ นอกเหนือจากกิจกรรมหลักที่เกี่ยวกับหนังสือ ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ห้องสมุดแทบทุกแห่งจะจัดกิจกรรม Summer Reading Program เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนอ่านหนังสือกันมากขึ้น โดยอาจมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่นักอ่านตัวน้อย ที่ขยันมายืมหนังสือจากห้องสมุดไปอ่าน

นอกจากนี้ห้องสมุดยังมีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ และให้ความเพลิดเพลินอื่นๆ แก่ชุมชนด้วย เช่น แสดงหุ่นโชว์ แสดงมายากล นำสัตว์เลื้อยคลานแปลกๆ มาแสดงให้ชม และการนำสัตว์ป่าหายากมาพบปะกับเด็กๆ ซึ่งรายการหลังนี้องค์กรที่ดูแลและช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ถูกทอดทิ้ง จะนำสัตว์เหล่านั้นมาให้ชมถึงห้องสมุด พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนั้น และอนุญาตให้เด็กๆ และผู้เข้าชมได้สัมผัสสัตว์เหล่านั้นในระยะใกล้ชิด ฉันเองมีโอกาสได้ลูบขนนุ่มของลูกจิงโจ้ตัวน้อย ได้เห็นตัวจริงของตัวลีเมอร์(Lemur) ได้ลูบขนของนกเค้าแมวสีขาว ก็ที่ห้องสมุดนี่เอง

ห้องสมุดบางที่ก็จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ยิ่งกว่านั้น เพื่อนของฉันที่อยู่ต่างรัฐ เล่าว่าห้องสมุดที่เธอทำงานอยู่ จัดโปรแกรมชื่อว่า Paws to read เป็นกิจกรรมสำหรับเด็กที่อ่านหนังสือช้า หรืออ่านตะกุกตะกัก ไม่ค่อยมั่นใจตัวเองมาอ่านหนังสือให้สุนัขฟังโดยมีผู้ดูแลสุนัขนั่งอยู่ด้วย ซึ่งสุนัขเหล่านี้เป็น Therapy dogs ที่ผ่านการอบรมและได้รับใบรับรอง เพื่อนเล่าว่าเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ชอบ อ่านหนังสือไป ก็เล่นกับสุนัขไป เป็นภาพที่ดูน่ารักมากๆ

กิจกรรมเหล่านี้บรรณารักษ์มักจะโยงให้เข้ากับหนังสือที่ห้องสมุดมีให้บริการ เพื่อที่ว่าหลังจากการชมการแสดงต่างๆ เหล่านี้ หากเด็กๆ สนใจจะหาความรู้เพิ่มเติม หรืออ่านหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมที่ชมไป ก็สามารถยืมหนังสือจากห้องสมุดไปอ่านต่อที่บ้านได้

แม้ว่ากิจกรรมที่เล่ามาข้างต้น ฉันยังไม่มีโอกาสพาน้องธีร์ไปดู ด้วยตรงกับวันทำงานเป็นส่วนใหญ่ แต่ตั้งใจไว้ว่าถ้ามีโอกาสก็ต้องพาลูกไปดูให้ได้ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้หลากหลาย

ฉันหวังว่าประสบการณ์การไปห้องสมุด จะเป็นความประทับใจและช่วยบ่มเพาะให้ลูกรักการอ่านเหมือนอย่างที่ฉันรัก เพราะฉันเชื่อว่านอกเหนือจากความเพลิดเพลินแล้ว การอ่านหนังสือเป็นการช่วยพัฒนาความคิด สร้างเสริมจินตนาการให้แก่ลูก รวมทั้งสอนให้ลูกรู้จักการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วยค่ะ
ที่มา : http://pomme07.multiply.com/journal/item/11/11

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น